อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวต้อนรับและกล่าวขอบคุณสื่อมวลชนจากทุกแขนง ในโอกาสที่มาร่วมงานแถลงข่าวและขอบคุณสื่อมวลชนประจำปี 2566 พร้อมแถลงกิจกรรมของมช.ในปี 2567

0

เมื่อวันจันทร์ที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2566 ณ โรงแรม อินเตอร์คอนติเนนตัล เชียงใหม่ แม่ปิงจ.เชียงใหม่ ศาสตราจารย์ ดร.นพ.พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวต้อนรับและกล่าวขอบคุณสื่อมวลชนจากทุกแขนง ในโอกาสที่มาร่วมงานแถลงข่าวและขอบคุณสื่อมวลชนประจำปี 2566 ซึ่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่จัดขึ้น เพื่อแนะนำ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พร้อมก้าวสู่ทศวรรษที่ 7 ของการเป็นมหาวิทยาลัยแห่งนวัตกรรม

และประชาสัมพันธ์กิจกรรม ฉลองครบรอบ 60 ปี แห่งการสถาปนามหาวิทยาลัย รวมถึงประชาสัมพันธ์ผลงานวิจัย นวัตกรรมเด่นของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ข้อมูลข่าวสาร กิจกรรมต่างๆ ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตลอดจนการขอบคุณสื่อมวลชนที่ให้การสนับสนุน ช่วยเหลือการประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารด้วยดีตลอดมา โดยมีคณะผู้บริหาร คณาจารย์ นักวิจัย ร่วมให้รายละเอียดและตอบข้อซักถามในด้านต่างๆ

เริ่มด้วยการแถลง มหาวิทยาลัยเชียงใหม่มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral University) ภายในปี 2032พร้อมดึงเทคโนโลยีสมัยใหม่ร่วมจัดการเมืองอัจฉริยะ CMU Smart City ตอกย้ำการดำเนินงานอย่างรับผิดชอบต่อสังคมอย่างยั่งยืน

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้กำหนดนโยบายนำมหาวิทยาลัยมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral University) ภายในปี 2032 โดยกำหนดเป็น 1 ในนโยบายแผน 13 ของมหาวิทยาลัย ซึ่งมุ่งสร้างต้นแบบการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ผลักดันนโยบายการใช้พลังงานทดแทน การอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ของมหาวิทยาลัย ซึ่งไม่เพียงแต่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาทางด้านสภาพแวดล้อมเท่านั้น ยังพัฒนาการดำเนินการจัดการอย่างยั่งยืนด้วยด้วยการนำเทคโนโลยี นวัตกรรมสมัยใหม่เข้ามาช่วยแก้ปัญหา และพัฒนาการดำเนินงานของมหาวิทยาลัย โดยเน้นการใช้ข้อมูลเพื่อการบริหารจัดการด้านต่าง ๆ (Data-Driven) ที่นำไปสู่การยอมรับในวงกว้าง ได้รับมอบตราสัญลักษณ์จากสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมให้เป็นพื้นที่พัฒนาเมืองอัจฉริยะของประเทศ (Smart City)

         

ด้วยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่มีการพัฒนาโครงการสร้างพื้นฐานที่นำไปสู่วิถีชีวิตแบบคาร์บอนต่ำ ตั้งเป้าเป็นต้นแบบในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ รวมทั้งลดต้นทุนการบริหารจัดการพลังงานทั้งระบบ โดยมีกรอบการดำเนินงานด้านความเป็นกลางทางคาร์บอนทั้งหมด 5 ด้าน คือ 1. การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกขององค์กร (Organization GHG Management) 2. การจัดทำมาตรการลดคาร์บอนในองค์กร (CMU Carbon Reduction Projects) 3. มาตรการการกักเก็บคาร์บอนในพื้นที่สีเขียว (CMU Carbon Sinks) 4. การพัฒนาบุคลากรและปลูกจิตสำนึก (CMU Human Developments) 5. การปรับตัวเตรียมความพร้อมต่อ Climate Change (CMU Climate Adaptation and Resilience) ดังสะท้อนให้เห็นจากการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ในมหาวิทยาลัย ตั้งแต่การบริหารจัดการทรัพยากร เช่น การติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคา (Solar Rooftop) ทั่วทั้งมหาวิทยาลัย รวมถึงระบบผลิตพลังงานความร้อน Solar Collector ณ หอพักนักศึกษา สามารถลดค่าไฟฟ้า และลดการปล่อยคาร์บอน รวมกว่า 8,000 tCO2e/ปี อีกทั้งครอบคลุมไปถึงกิจกรรมนักศึกษาที่จัดขึ้นโดยคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสังคม อย่างเช่น การรับน้องขึ้นดอยประจำปี 2566 และขบวนแห่กระทงใหญ่ “โคมคำ สุวรรณหงส์” ที่ร่วมรณรงค์การจัดการขยะอย่างครบวงจร ไม่ก่อมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ทาง มหาวิทยาลัยเชียงใหม่พร้อมพัฒนาสังคมไปพร้อมกับการจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน จากการเตรียมพร้อมทั้งการจัดการภายในองค์กร สร้างจิตสำนึกของบุคลากร ส่งเสริมการสร้างสรรค์การเรียนรู้อย่างไม่จำกัด รวมไปถึงการรับผิดชอบต่อสังคม พร้อมปักหมุดหมายของการพัฒนาสู่มหาวิทยาลัยที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral University) ภายในปี 2032 ในทุกก้าวเดิน

ต่อมา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่กับการขับเคลื่อนงานวิจัยขั้นแนวหน้าเพื่ออนาคต

ตามที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่มีแนวทางในการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัย ตามแผนการศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ระยะที่ 13 (พ.ศ. 2566-2570) ในการเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนําที่รับผิดชอบต่อสังคมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนด้วยนวัตกรรม โดยมีเป้าหมายวิสัยทัศน์คือสามารถสร้างผลประเมิน Socio Economic Impact และการได้รับการจัดอันดับ Time Higher Education University Impact Ranking อยู่ใน 50 อันดับแรกของโลกในการขับเคลื่อนสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDG) ภายในปี 2570 ภายใต้วัตถุประสงค์เชิงกลยุทธ์การสร้างการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านการวิจัยและนวัตกรรม (SO5: Research and Innovation Platform) ที่กำหนดกลยุทธ์เรือธงคือพัฒนากลไก ผลักดันการวิจัยชั้นแนวหน้า และเทคโนโลยีเชิงลึก การส่งเสริมการนําผลงานสร้างสรรค์และนวัตกรรมที่มีผลกระทบสูง ไปใช้ประโยชน์เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และการพัฒนาที่ยั่งยืน และสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการบูรณาการองค์ความรู้ ในการจัดการศึกษา วิจัย และนวัตกรรม ผ่านการสร้างรูปแบบการทํางานที่เหมาะสม

ตลอดระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยขับเคลื่อนงานวิจัยผ่าน flagship หลักทั้งหมด 7 flagship นั่นคือ Flagship 1: Frontier Research, Flagship 2: Deep Tech and Appropriate Tech, Flagship 3: High Impact Research, Flagship 4: Brain Power and Manpower, Flagship 5: Global Partnership, Flagship 6: Open Innovation, Flagship 7: Research and IP Utilization เพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ด้านวิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์และศิลปกรรมศาสตร์

โดยงานวิจัยขั้นแนวหน้า หรือ Frontier Research ถือเป็นงานวิจัยสำคัญระดับต้นต่อประเทศ ไม่ว่าจะเป็นงานวิจัยที่เพิ่งค้นพบใหม่ เช่น การค้นพบเห็ดชนิดใหม่ของโลก ซึ่งเมื่อปี 2560 นักวิจัยของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้ค้นพบเห็ดทรัฟเฟิลชนิดแรกของประเทศไทย และเป็นที่แรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างศึกษาพัฒนาการทำฟาร์มเพาะเห็ดทรัฟเฟิล เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับวงการเกษตรกรรมไทยให้สามารถเพาะเลี้ยงเพื่อส่งออกไปยังต่างประเทศได้เช่นเดียวกับเห็ดทรัฟเฟิลที่เพาะเลี้ยงได้ในต่างประเทศ และในปี 2566 นักวิจัยกลุ่มเดิมสามารถค้นพบเห็ดหล่มหลังขาว และ เห็ดหล่มหลังเขียว ซึ่งเป็นเห็ดประจำถิ่นที่เป็นที่รู้จักของชาวบ้านในละแวกที่ค้นพบ มีการเก็บมาทำเป็นอาหารอย่างต่อเนื่อง แต่ไม่มีการระบุชนิดทางวิทยาศาสตร์อย่างถูกต้อง หากมีการเก็บข้อมูลและให้ความรู้แก่คนในชุมชนถึงการดูแลพื้นที่ป่า อาจเป็นการสร้างรายได้จากเห็ดป่าสองชนิดนี้ที่มีราคากิโลกรัมละ 150 – 200 บาท ในฤดูฝน ของคนในชุมชนรอบมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ต่อไป

อีกหนึ่งโครงการวิจัยสำคัญที่เป็นงานวิจัยขั้นแนวหน้าไปสู่การต่อยอดและถือได้ว่าจะเป็นงานวิจัยเพื่ออนาคต นั่นคือโครงการวิจัยขั้วโลก (อาร์กติกและแอนตาร์กติก) ตามพระราชดำริฯ โครงการวิจัยขั้วโลกของไทยเริ่มต้นจากการที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี  ทรงมีสายพระเนตรที่ยาวไกลถึงความสำคัญของการศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพื้นที่แถบขั้วโลก ทรงมีพระราชดำริก่อตั้งมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี  ประสานความร่วมมือระหว่างประเทศไทยกับประเทศแนวหน้าของโลกเช่นจีน ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้เป็นต้น ซึ่งมีเรือตัดน้ำแข็งและสถานีวิจัยที่ทวีปแอนตาร์กติกอยู่แล้ว นำไปสู่ความร่วมมือระหว่างสถาบันวิจัย/มหาวิทยาลัยของไทยกับหน่วยงานของประเทศแนวหน้าดังกล่าว ภายใต้การดำเนินงานของมูลนิธิ ที่ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ทั่วประเทศ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้รับเลือกให้เป็นมหาวิทยาลัยหลักในการดำเนินโครงการความร่วมมือไทย-ไอซ์คิวบ์ตามพระราชดำริฯ การทำงานเป็นลักษณะบูรณาการหน่วยงานในประเทศ ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) และสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์  หน่วยงานในต่างประเทศ ได้แก่ สถานีตรวจวัดนิวทริโนนิวทริโนไอซ์คิวบ์ซึ่งรัฐบาลสหรัฐอเมริกาได้มอบหมายให้ มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสันเป็นผู้บริหาร และ โครงการสำรวจตัดข้ามละติจูดเป็นการตรวจวัดรังสีคอสมิกจากท้องฟ้า ได้ร่วมมือกับกลุ่มวิจัยของสาธารณรัฐเกาหลี ได้แก่ มหาวิทยาลัยชอนนัม (Chonnam National University), สถาบันดาราศาสตร์และวิทยาศาสตร์อวกาศเกาหลี (KASI : Korea Astronomy and Space Science Institute) และ สถาบันวิจัยขั้วโลกเกาหลี (KOPRI : Korea Polar Research Institute) เพื่ออาศัยการเดินทางของเรือตัดน้ำแข็งของเกาหลีบรรทุกอุปกรณ์ตรวจวัดชื่อ “ช้างแวน” บรรทุกไปกับเรือตัดน้ำแข็ง “เอราออน” (RV Araon) เดินทางเก็บข้อมูลวิจัย ณ ทวีปแอนตาร์กติก เพื่อศึกษาอัตราการเปลี่ยนแปลงของรังสีคอสมิกในระดับละติจูดต่างๆ ตามเส้นทางจากประเทศนิวซีแลนด์ เขตวิจัยทางทะเลอามันด์เซน (Amundsen Sea Research Area) สถานีวิจัยจางโบโก (Jang Bogo Station) และสิ้นสุดการเดินทาง ณ เมืองกวางยาง สาธารณรัฐเกาหลี  โครงการทั้งหลายดังกล่าวข้างต้นเป็นการพัฒนาและเตรียมความพร้อมกำลังคนของประเทศในการก้าวเข้าสู่วิทยาศาสตร์และและเทคโนโลยีแนวหน้า (frontier science and technology) ยกระดับประเทศซึ่งจะนำประเทศไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจของประเทศต่อไปได้ในอนาคต

มช. พัฒนานวัตกรรมขับเคลื่อนประเทศให้ก้าวหน้าอย่างยั่งยืน

            มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีวิสัยทัศน์การเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำที่รับผิดชอบต่อสังคมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนด้วยนวัตกรรม และมุ่งมั่นสู่การเป็นมหาวิทยาลัยแห่งนวัตกรรม (Innovation University) ผ่านกลไกการผลักดันการวิจัยชั้นแนวหน้า เทคโนโลยีเชิงลึก การส่งเสริมการนําผลงานสร้างสรรค์และนวัตกรรมที่มีผลกระทบสูงไปใช้ประโยชน์เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม สร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการบูรณาการองค์ความรู้เพื่อการจัดการศึกษา วิจัยและนวัตกรรมผ่านรูปแบบการทํางานที่เหมาะสม และก่อให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจของประเทศไทยมูลค่า 60,000 ล้านบาท ภายในระยะเวลา 4 ปี ผ่านกลไกสำคัญดังนี้

“มช. พัฒนานวัตกรรมขับเคลื่อนประเทศ”

นวัตกรรมถือเป็นส่วนสำคัญในการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันและยกระดับเศรษฐกิจให้กับประเทศ การยกระดับงานวิจัยสู่นวัตกรรมจำเป็นต้องมีกลไกการสนับสนุนที่เหมาะสม ทั้งการยกระดับความพร้อมของเทคโนโลยีและทดสอบความเป็นไปได้ในภาคการตลาดเพื่อให้ได้นวัตกรรมที่ตอบโจทย์ทั้งภาคเศรษฐกิจและสังคม

ในปี 2566 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้ดำเนินงานร่วมกับนักวิจัยจำนวนกว่า 1,000 คน โดยเฟ้นหางานวิจัยที่มีศักยภาพจาก 150 ผลงาน เพื่อการสร้างนวัตกรรมที่โดดเด่นและเป็นเทคโนโลยีแห่งอนาคต จำนวนกว่า 40 ผลงาน โดยตัวอย่างเทคโนโลยีที่สำคัญ อาทิ MOF- High-value Metal-organic Framework ซึ่งสังเคราะห์จากขยะพลาสติกและอลูมิเนียมสำหรับการจับและการกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) หรือ High Efficiency Anode Materials ซึ่งใช้สำหรับการพัฒนาลิเทียมไออนแบทเตอรี่ในรถไฟฟ้า EV เป็นต้น ในปี 2567 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่มีแนวทางดำเนินงานผ่าน 3 กลไกสำคัญ คือ การแปลงงานวิจัยสู่เทคโนโลยี (RT2) คือการยกระดับงานวิจัยและการศึกษาแนวทางการนำงานวิจัยออกสู่ตลาด นอกจากนี้ยังมุ่งเน้นการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีที่มีความสามารถในการแข่งขัน ตอบโจทย์ความต้องการและเทรนด์ของเทคโนโลยีในระดับโลก เช่น พลังงานสะอาด พลังทดแทน หรืออุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพ ผ่านโครงการต่อยอดเทคโนโลยีสู่การเป็นนวัตกรรมที่โดดเด่นของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (Identified Tech to CMU Innovation) และโครงการบ่มเพาะเทคโนโลยีเชิงลึก (Pre-Tech Incubate) ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญในระดับโลก โดยกำหนดเป้าหมาย 50 ผลงานวิจัยสู่เทคโนโลยีเชิงลึกและมีศักยภาพแห่งการเปลี่ยนโลก

“มช. สร้างเครือข่ายนวัตกรรมเชื่อมโยงสู่สากล”

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่มีแนวทางเพื่อร่วมดำเนินงานอย่างเข้มแข็งกับพันธมิตรในต่างประเทศผ่านการแลกเปลี่ยนแนวคิด องค์ความรู้ เสริมสร้างศักยภาพให้กับบุคลากรทั้งอาจารย์และนักศึกษา รวมถึงสร้างความร่วมมือด้านการพัฒนางานวิจัยและการดำเนินงานในรูปแบบนวัตกรรมแบบเปิด เพื่อการสร้าง Global Visibility ให้กับมหาวิทยาลัยให้อนาคต ในปี 2566 มหาวิทยาลัยได้สร้างแพลตฟอร์มสำหรับสร้างคู่ความร่วมมือด้านวิชาการ การวิจัย และนวัตกรรมระดับโลกทั้งกับภาครัฐและเอกชน ผ่านบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาและหน่วยงานในต่างประเทศ ที่มีมากกว่า 300 ฉบับ ในโครงการ One Faculty One MoU หรือ OFOM และการสร้างคู่ความร่วมมือใหม่กับมหาวิทยาลัย Top 50 ของโลก ผ่านโครงการ Personal to Organization โดยผลจากการดำเนินงานเกิดเป็นคู่ความร่วมมือใหม่กับ 10 หน่วยงาน การดำเนินกิจกรรมร่วมกันผ่านโครงการความร่วมมือและร่วมลงทุนกว่า 20 โครงการ สามารถกระตุ้นความร่วมมือกับพันธมิตรในต่างประเทศกว่า 50 ส่วนงาน คาดการณ์ในปี 2567 จะดำเนินการกระตุ้นความร่วมมือผ่านโครงการเหล่านี้อย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 รวมถึงมีการสร้างแพลทฟอร์มใหม่ในการทำงานในรูปแบบนวัตกรรมแบบเปิดกับหน่วยงานทั้งภายในและต่างประเทศ ซึ่งจะทำให้เกิดคู่เครือข่ายพันธมิตรและกิจกรรมความร่วมมือกับส่วนงานชั้นนำระดับโลกกว่า 50 เครือข่าย

“มช.ส่งเสริมนวัตกรรมสู่การใช้ เพื่อเศรษฐกิจและสังคม”

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่มีงานวิจัยและเทคโนโลยีที่หลากหลาย สามารถส่งต่อเพื่อสร้างประโยชน์ให้กับภาคเศรษฐกิจและสังคม ผ่านการบริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญา องค์ความรู้ ที่มหาวิทยาลัยมีความเชี่ยวชาญและถ่ายทอดเทคโนโลยีเหล่านั้นสู่การใช้ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม ชุมชนหรือธุรกิจสามารถนำองค์ความรู้นั้นไปใช้ในการสร้างรายได้ สร้างอาชีพ ต่อยอดสู่การแก้ปัญหาของชุมชนและสังคมได้ ในปี 2566 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่มีทรัพย์สินทางปัญญาที่ได้รับความคุ้มครองใหม่กว่า 40 ผลงาน และมีการถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีเหล่านั้นสู่ภาคชุมชนและสังคมรวม 20 ผลงาน อาทิ โครงการถ่ายทอดเทคโนโลยีและพัฒนาองค์ความรู้เพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์สมุนไพรจากภูมิปัญญาชุมชนตำบลเวียงยองอ.เมืองลำพูน จ.ลำพูน ภายใต้การรังสรรค์ร่วมของภาคีเครือข่าย และโครงการนวัตกรรมเพื่อการท่องเที่ยวชุมชนอย่างยั่งยืนชุมชนวัดหมื่นสาร ย่านวัวลาย อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นต้น ในส่วนของปี 2567 ตั้งเป้าคัดเลือกผลงานวิจัยที่มีศักยภาพของมหาวิทยาลัยกว่า 100 ผลงาน เพื่อสร้างประโยชน์และก่อให้เกิดการใช้งานจริงจำนวน 30 ผลงาน และส่งเสริมการดำเนินงานของบริษัท อ่างแก้ว โฮลดิ้ง จำกัด เพื่อขยายผลการนำเทคโนโลยีสู่การจดจัดตั้งบริษัทจำนวน 12 บริษัท และเชื่อมโยงโอกาสกับนักลงทุนเพื่อให้กับธุรกิจจากรั้วมหาวิทยาลัยมีการเติบโตอย่างยั่งยืน

“มช. แหล่งปั้นสตาร์ทอัพ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย”

 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดตัวโปรแกรม builds (CMU Startup & Entrepreneurial Platform) เพื่อขับเคลื่อนการสร้างสตาร์ทอัพและความเป็นผู้ประกอบการให้กับนักศึกษาของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยมุ่งหวังการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการสร้างธุรกิจสตาร์ทอัพและความเป็นผู้ประกอบการของนักศึกษาอย่างครบวงจร ผ่านกิจกรรมการให้ความรู้ร่วมกับ Live SET E-learning การทดลองประกอบธุรกิจ และการให้ทุนผ่านกลไกกองทุน 60 ปี CMU Student startup เพื่อให้นักศึกษาได้นำงานวิจัยหรือเทคโนโลยีในมหาวิทยาลัยมาสร้างเป็นธุรกิจผ่านการ Spin-off และจดจัดตั้งเป็นบริษัทซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้นักศึกษาทุกคนสามารถตั้งธุรกิจได้ในระหว่างเรียน โดยในปี 2566 มีนักศึกษาเข้าสู่ระบบของ Builds จำนวนกว่า 1,300 คน เข้าร่วมเป็นสมาชิกกว่า 440 คน เข้าร่วมกิจกรรมการให้ความรู้ 100 คนและเกิดเป็นธุรกิจจำนวน 10 บริษัท ในปี 2567 คาดว่าจะสามารถสร้างนักศึกษาที่สนใจการเป็นสตาร์ทอัพและความเป็นผู้ประกอบการได้มากกว่า 1,500 คน เกิดทีมนักศึกษาที่ร่วมสร้างสรรค์ไอเดียธุรกิจไม่น้อยกว่า 100 แนวคิด นำไปสู่การตั้งธุรกิจสตาร์ทอัพไม่น้อยกว่า 20 บริษัท

เป้าหมายในภาพรวมของการพัฒนานวัตกรรมโดยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในปี 2567 ตั้งเป้าหมายทำงานร่วมกับนักวิจัยในมหาวิทยาลัยจำนวนไม่น้อยกว่า 1,500 คน เพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมเชิงลึก 15 ผลงาน สร้างนวัตกรรมใหม่ที่ตอบโจทย์ภาคธุรกิจและสังคม 35 ผลงาน เกิด                   แพลทฟอร์มการทำงานร่วมกันในรูปแบบนวัตกรรมแบบเปิดและรวมรวมข้อมูลนักวิจัยและข้อมูลงานวิจัยเพื่อดำเนินงานร่วมกันไม่น้อยกว่า 1,000 ข้อมูล ในส่วนการดำเนินงานกับต่างประเทศมีเป้าหมายร่วมดำเนินงานอย่างใกล้ชิดกับพันธมิตรไม่น้อยกว่า 50 เครือข่าย โดยคาดการณ์ว่าจะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มทางสังคมและเศรษฐกิจกว่า 248 ล้านบาท การดำเนินงานทั้งหมดนี้เพื่อตอบโจทย์เป้าหมายของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่มุ่งสู่การเป็นมหาวิทยาลัยนวัตกรรมและเป็นตัวช่วยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมในจังหวัดเชียงใหม่และพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทยต่อไป

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมสร้างสังคมสุขภาพดี ด้วยนวัตกรรมการแพทย์

ตั้งเป้าสู่เมืองศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ หรือ Chiang Mai Medical Health Hub

ระยะเวลากว่า 60 ปี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ยังคงตั้งมั่นในการให้บริการทางการแพทย์ที่เปี่ยมไปด้วยคุณภาพ คิดค้นนวัตกรรมเพื่อการดูแลสุขภาพของประชาชนอย่างคลอบคลุมทุกมิติสุขภาพด้วยมาตรฐานสากล    ในการดูแลปัญหาสุขภาพระดับประเทศ และปัญหาสุขภาพในท้องถิ่นจากผู้เชี่ยวชาญที่มีองค์ความรู้ที่เข้มแข็ง อาทิ โรคหลอดเลือดสมอง, โรคหลอดเลือดหัวใจ, โรคมะเร็งปอด, การรักษาโดยการปลูกถ่ายอวัยวะ, การบาดเจ็บด้วยอุบัติเหตุ

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ดำเนินงานตามแผนพัฒนาการศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระยะที่ 13 (พ.ศ.2566-2570) อย่างต่อเนื่องในปีที่ผ่านมาเพื่อสร้างเสริมการขับเคลื่อนพัฒนาบุคลากร พร้อมด้วยองค์ความรู้อย่างเข้มแข็ง พร้อมแผนกลยุทธ์ที่มีเป้าหมายของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่โดยรวมให้สอดรับกับยุทธศาสตร์ชาติ และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) และความต้องการของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งในประเทศไปจนถึงระดับนานาชาติ อาทิ นักศึกษา ผู้เรียน ผู้ใช้บัณฑิต ชุมชน สังคม องค์กรของรัฐและเอกชนที่เป็นผู้ใช้ผลงานทางวิชาการและวิจัย ด้วยสมรรถนะหลักที่มุ่งเน้นการบูรณาการความเชี่ยวชาญในสาขาวิชาที่หลากหลาย เพื่อสร้างนวัตกรรมสู่ความยั่งยืน โดยต้องการยกระดับการดูแลด้านสุขภาพด้วยการนำนวัตกรรมการแพทย์ที่มุ่งเน้นไปสู่การดูแลสุขภาพที่ดียิ่งขึ้น (Better Health) ด้วยการดูแลที่ครอบคลุมทุกมิติ (Comprehensive health care and promote equality) การเข้าถึงที่สะดวกและลดความเหลื่อมล้ำทางสุขภาพ (Decrease health disparity, diversity) ใช้ Technology Digital ที่ทันสมัย (Digital innovation and AI for health)

จากการดำเนินการที่ผ่านมาได้ปรากฏผลงานเป็นที่ประจักษ์ และสร้างคุณประโยชน์ทางการรักษา การส่งเสริมด้านสุขภาวะแก่ประชาชน ยกระดับการให้บริการทางการแพทย์และสาธารณสุข ให้บริการแบบครบวงจร สามารถเข้าถึงบริการระดับสูงได้อย่างรวดเร็ว อันประกอบไปด้วย ศูนย์สุขภาพมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ศูนย์ส่งเสริมพฤฒพลังผู้สูงอายุ ศูนย์เวชศาสตร์ผู้สูงอายุ  ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ ศูนย์ทันตกรรมผู้สูงอายุ ศูนย์สุขภาพพร้อม และศูนย์สุขภาพสัตว์เลี้ยงที่ได้เปิดทำการไปเมื่อต้นปี 2566 ตลอดจนมีการจัดประชุมวิชาการแสดงผลงาน กิจกรรมเสวนาผลงานนวัตกรรมทางการแพทย์ งานมหกรรมสุขภาพ Health Expo เพื่อนำไปสู่การดูแลสุขภาพที่ดียิ่งขึ้น การดำเนินการในอนาคตจะให้การดูแลสุขภาพด้วยศูนย์บริการสุขภาพและบริการสาธารณสุข Medical Hub & Wellness Center และศูนย์ดูแลผู้สูงอายุระยะยาว (Long Term Care)   ทั้งนี้เพื่อสร้างการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านนวัตกรรมการแพทย์ สุขภาพ และการดูแลผู้สูงอายุ (Medicopolis Platform) เพื่อนำไปสู่อนาคตในการพัฒนาเชียงใหม่ให้เป็น Chiang Mai Medical & Health Innovation District เพื่อผลักดันและพัฒนาให้เชียงใหม่เป็นย่านนวัตกรรมการแพทย์และสุขภาพ 

นอกจากนี้ยังมีการจัดนิทรรศการแสดงผลงานและงานเสวนานวัตกรรมทางการแพทย์ MEDCHIC Innovation Day  พื้นที่ให้เกิดการรวมตัวกันของผู้ที่สนใจการพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์และสุขภาพ อาทิ

– นวัตกรรมทางการแพทย์ (Medical devices) อาทิ รถไฟฟ้าสำหรับผู้พิการรุ่นที่ 2 ชุดอุปกรณ์การสอนช่วยฝึกฟื้นคืนชีพขั้นพื้นฐาน (ALIVE) และอุปกรณ์สำหรับผู้พิการและผู้สูงอายุ

– เทคโนโลยีด้านสุขภาพ (Health Technology) อาทิ Application Panyadee+ Sound therapy smile migraine และการแพทย์ทางไกล

– ผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ (Natural Products) อาทิ functional natural drink

– การพัฒนาย่านนวัตกรรมทางการแพทย์สวนดอก (SMID) มุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางแห่งนวัตกรรมการแพทย์ของภูมิภาคอย่างยั่งยืน

– การพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลสำหรับการให้บริการผู้ป่วยแบบผสมผสาน การบริการผู้ป่วยนอกและการออกหน่วยให้บริการนอกสถานที่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการผู้ป่วยนอกและการออกหน่วยเคลื่อนที่เพื่อให้บริการนอกสถานที่ได้

มากไปกว่านั้น ได้มีการนำเทคโนโลยี 5G มาใช้ในการดูแลสุขภาพด้วยการแพทย์ทางไกล หรือTelemedicine  แก้ปัญหาการเข้าถึงการรักษาในพื้นที่ชนบทห่างไกล ผ่านทางเทคโนโลยีและการสื่อสารแบบ Video conference จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ โดยไม่มีข้อจำกัดเรื่องเวลาและสถานที่

ในอนาคตอันใกล้ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ตั้งเป้าสู่เมืองศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ หรือ Chiang Mai Medical Health Hub จากความพร้อมในทุกด้าน และการรักษาพยาบาลที่ได้มาตรฐานระดับสากล สอดรับกับนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการสร้างจังหวัดเชียงใหม่ให้เป็น “Wellness City” นอกจากเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุแล้ว ยังช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต สุขภาวะความเป็นอยู่ของประชาชน และเศรษฐกิจของจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมผลักดัน Medical & Wellness Tourism หรือการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์และเชิงสุขภาพ ให้เป็นอีกหนึ่งหมุดหมายสำคัญของการมาเยือนจังหวัดเชียงใหม่

มช. จัดกิจกรรมฉลองครบรอบ 60 ปี แห่งการสถาปนามหาวิทยาลัยตลอดปี 2567

          ในปี 2567 นี้ เป็นโอกาสสำคัญในวาระครบรอบ 60 ปีแห่งการสถาปนามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งจะมีการจัดกิจกรรมเฉลิมฉลองตลอดทั้งปี เริ่มตั้งแต่วันคล้ายวันสถาปนามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในวันที่ 24 มกราคม 2566 ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่ช่วงเช้า ณ ศาลาธรรม มช. จะมีพิธีขึ้นท้าวทั้งสี่ พิธีบวงสรวงพระภูมิ พิธีทำบุญตักบาตรพระสงฆ์ 60 รูป จากนั้นจะมีพิธีสักการะหม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ผู้มีคุณูปการและผู้ร่วมก่อตั้งมหาวิทยาลัย พร้อมกันนี้ที่ศาลาธรรม จะได้มีพิธีเจริญพระพุทธมนต์สมโภชน์ปิดทองพระพุทธรูปประจำมหาวิทยาลัย “พระพุทธทศพลชินราช”และ “พระพุทธพิงคนคราภิมงคล” พร้อมทั้งพระพุทธรูปประจำส่วนงาน เพื่อให้องค์พระพุทธรูป มีพระวรกายมีความผ่องใส สดใส เด่นสง่า สวยงาม เกิดความเลื่อมใสศรัทธาในการบูชาสักการะ โดยมีพิธีบวงสรวงบอกกล่าวเทพาอารักษ์เมื่อเดือนธันวาคม 2565 ที่ผ่านมา

          หลังจากเสร็จสิ้นพิธีทางศาสนาแล้ว จะมีพิธีมอบรางวัลผู้บริหารดีเด่นจากกองทุนอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ประจำปี 2566 พิธีมอบรางวัลมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ “ช้างทองคำ” ประจำปี 2565 ได้แก่ รางวัลอาจารย์นักวิจัยยอดเยี่ยมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รางวัลอาจารย์ผู้ที่มีผลงานดีเด่นในการพัฒนาคุณธรรม จริยธรรมแก่นักศึกษา รางวัลอาจารย์ดีเด่น รางวัลนักวิจัยดีเด่น นักวิจัยรุ่นใหม่ดีเด่น รางวัลนักเทคโนโลยีและนวัตกรรมดีเด่น รางวัลผู้ปฏิบัติงานดีเด่น ต่อด้วยพิธีมอบโล่ประกาศเกียรติคุณผู้ที่ได้รับพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯแต่งตั้ง ให้ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ ประจำปี 2566

          นอกจากนี้ ในวันดังกล่าวยังได้มีพิธีมอบกิตติบัตรเพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติแก่ผู้บริหารที่ดำรงตำแหน่งครบวาระ พิธีมอบรางวัลปริญญานิพนธ์ ดีเด่น/ดีมาก รางวัลหลักสูตรดีเด่น และนักศึกษาเก่าต่างชาติดีเด่น ปีการศึกษา 2566 ตลอดจนนักศึกษาเก่า มช. มอบทุน “กองทุน 60 ปี มช. CMU Student Start Up” รางวัลยกย่องเชิดชูเกียรติและประกาศเกียรติคุณในวันคล้ายวันสถาปนามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จะเป็นกำลังใจส่งเสริมให้คณาจารย์ บุคลากรและนักศึกษาได้ทุ่มเทพลกำลัง สติปัญญาในการปฏิบัติหน้าที่ เป็นแบบอย่างที่ดี และเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนามหาวิทยาลัยให้เจริญก้าวหน้าตามปณิธานของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ต่อไป

          ในวันสำคัญนี้ ในช่วงเย็นจะมีการแสดงดนตรีเฉลิมฉลอง 60 ปี แห่งการสถาปนามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ณ สนามรักบี้ หน้า มช. โดยจะมีการจัดแสดงคอนเสิร์ตจาก 3 วงดนตรีชื่อดัง Slot Machine  Roger That และSafe Planet    ในบรรยากาศของเทศกาลเฉลิมฉลอง ตลอดงานจะมีซุ้มอาหารอย่างหลากหลายไว้คอยต้อนรับทุกท่านที่เข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้   

          นอกจากนี้ ตลอดทั้งปียังจะมีการจัดกิจกรรมเพื่อร่วมเฉลิมฉลองในวาระสำคัญนี้ อาทิ
          – งานประชุมวิชาการระดับชาติ Engagement Thailand ครั้งที่ 9 ขับเคลื่อนนวัตกรรม เพื่อพันธกิจสัมพันธ์กับสังคม สู่ความยั่งยืน วันที่ 7 – 9 กุมพาพันธ์ 2567 
          – เจ้าภาพการแข่งขันกีฬาบุคลากรมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 40 “อ่างแก้วเกมส์” วันที่ 31 พฤษภาคม – 10 มิถุนายน 2567
          – ดนตรีไทยอุดมศึกษา ครั้งที่ 47 วันที่ 23 – 26 ตุลาคม 2567
          – Concert 60 Years CMU ในเดือนพฤศจิกายน 2567
          – ประเพณีรับน้องขึ้นดอย ในเดือนพฤศจิกายน 2567
          – CMU Marathon 2024 ในเดือนพฤศจิกายน 2567
          – งานเกษตรภาคเหนือ ครั้งที่ 11 วันที่ 7 – 15 ธันวาคม 2567  
          – ประชุมวิชาการระดับชาติของเครือข่ายมหาวิทยาลัยไทยเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ (TUN-HPN) ในเดือนธันวาคม 2567  อีกทั้ง จะมีการเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่อีกครั้ง ในเดือนมกราคม 2568

         

ขอเชิญทุกท่านร่วมก้าวไปข้างหน้าอย่างยั่งยืนกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยติดตามข่าวสารการจัดกิจกรรมตลอด มช. ได้ที่เว็บเซต์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ www.cmu.ac.th Fanpage Facebook มหาวิทยาลัย เชียงใหม่ https://www.facebook.com/cmuofficial หรือ โทร. 053-941-300

นอกจากนี้ อาหารสร้างสรรค์ Molecular Gastronomy จาก local สู่เลอค่า
และนวัตกรรมอาหารเพื่อสุขภาพ ศูนย์นวัตกรรมอาหารและบรรจุภัณฑ์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (Food Innovation and Packaging Center, FIN) เป็นหน่วยงานในกำกับของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ให้บริการด้านการพัฒนาองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอาหารให้กับภาคเอกชนในเขตอุตสาหกรรมเชิงยุทธศาสตร์เชิงพื้นที่ (Area Base) ด้านเศรษฐกิจนวัตกรรมอาหารเพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่าสินค้า และสร้างมูลค่าทางธุรกิจ รวมไปถึงการรองรับการแข่งขันในระดับภูมิภาค ประเทศและประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน จากการดำเนินงานที่ผ่านมา ศูนย์ฯ ได้ให้บริการเอกชนไปกว่า 3,000 รายทั่วประเทศ เกิดผลิตภัณฑ์นวัตกรรมกว่า 1,500 ผลิตภัณฑ์ และเกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจกว่า 4,000 ล้านบาท ซึ่งในปี 2564-2566 มีการพัฒนาด้าน Soft power ที่สำคัญ คือ Lanna Gastronomy โดยมีผลงานอาหารสร้างสรรค์ Molecular Gastronomy ที่เล่าเรื่องราวการท่องเที่ยวผ่านเมนูอาหาร เผื่อกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยวในจังหวัดเชียงใหม่ และขยายผลสู่จังหวัดเมืองรองใกล้เคียง เชื่อมโยงร้อยเรียงตั้งแต่ ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ผสานกับกลิ่นอายวัฒนธรรมความเป็นท้องถิ่นชุมชน ถ่ายทอดเป็นเมนูอาหารสุดพิเศษที่ผ่านการรังสรรค์ให้สวยงามผสมผสานกับการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ช่วยเพิ่มมูลค่าให้วัตถุดิบท้องถิ่นสู่จานเมนูอาหารสุดพิเศษ จาก local สู่เลอค่า

                  

นอกจากนั้น ศูนย์นวัตกรรมอาหารและบรรจุภัณฑ์ มช. ยังได้พัฒนานวัตกรรมอาหารเพื่อสุขภาพหลากหลายผลิตภัณฑ์ อาหารเพื่อสุขภาพจึงเป็นที่นิยมในปัจจุบัน ยกตัวอย่างผลิตภัณฑ์อาหารนวัตกรรมเพื่อสุขภาพ เช่น ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร Finly 3 สูตร ได้แก่ สูตรอิ่มภูมิ (เสริมภูมิคุ้มกัน) สูตร NoTox (ล้างพิษในตับ) สูตร Beauty (ผิวสวย) ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีสาระสำคัญที่เข้มข้นอยู่ในรูปแบบพร้อมดื่มโดยใช้เทคโนโลยีและกระบวนการพิเศษเพื่อให้สารสำคัญ เกิดเป็นอนุภาคนาโน หรือ นาโนอิมัลชัน และการกำหนดส่วนผสม ในผลิตภัณฑ์ที่ยังคงมีสารสำคัญที่คงประสิทธิภาพและสามารถซึมผ่านเข้าสู่ร่างกายได้ดี และยังมีผลิตภัณฑ์นวัตกรรมพุดดิ้งไข่ขาวโปรตีนสูงสูตรเคี้ยวกลืนง่าย ผลิตภัณฑ์อาหารเหนือสำหรับผู้สูงอายุ เป็นต้น

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

เรื่องที่คุณอาจสนใจ