ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ (ธปท. สภน.) แถลงข่าว “ภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคเหนือ ไตรมาส 4/2565”

0

เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2566 ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ (ธปท. สภน.) โดยนางพรวิภา ตั้งเจริญมั่นคง ผู้อำนวยการอาวุโส แถลงข่าว “ภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคเหนือ ไตรมาส 4/2565” โดยภาพรวมภาวะเศรษฐกิจภาคเหนือในไตรมาส 4/2565 ปรับดีขึ้นจากไตรมาสก่อน ตามกิจกรรมเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวที่ขยายตัวต่อเนื่อง ภาคท่องเที่ยวขยายตัว จากนักท่องเที่ยวชาวไทยเดินทางเข้ามาภาคเหนือมากขึ้นตามการจัดกิจกรรมและเทศกาลในหลายพื้นที่ รวมทั้งสภาพอากาศหนาวเย็นจูงใจ ด้านนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นจากการเปิดประเทศเต็มรูปแบบและการเพิ่มเที่ยวบินตรงจากต่างประเทศ โดยส่วนใหญ่เป็นชาวเกาหลีไต้ มาเลเซีย และสิงคโปร์ สะท้อนจากการเดินทางเข้ามาภาคเหนือทั้งทางบกและอากาศเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง รวมทั้งอัตราการเข้าพักสูงขึ้น โดยเฉพาะในช่วงวันหยุดยาว รายได้ภาคเกษตรขยายตัว ตามการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าเกษตรสำคัญ ทั้งราคาข้าวและมันสำปะหลังที่เพิ่มขึ้นตามความต้องการส่งออก ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากความต้องการของอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ ราคาอ้อยโรงงานตามราคาน้ำตาลในตลาดโลก และราคาปศุสัตว์ที่เพิ่มขึ้นตามต้นทุนการผลิต ขณะที่ด้านผลผลิตพืชหลักขยายตัวต่อเนื่องเพราะปริมาณฝนดี สภาพอากาศเอื้ออำนวย

ส่วนด้านผลผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัว ตามการผลิตเพื่อส่งออกที่ปรับลดลงตามเศรษฐกิจโลกที่ชะลอลง โดยเฉพาะในหมวดสินค้าฟุ่มเฟือยและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ประกอบกับหมวดอาหารชะลอลงจากสินค้าเกษตรแปรรูปบางส่วนลดลงเพราะวัตถุดิบได้รับผลกระทบจากอุทกภัย สำหรับหมวดเครื่องดื่มขยายตัวตามกิจกรรมในช่วงเทศกาลที่เพิ่มขึ้น

การบริโภคภาคเอกชนปรับดีขึ้น ตามหมวดบริการที่ขยายตัวตามภาคการท่องเที่ยว กิจกรรมทางเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับดีขึ้น ส่งผลให้หมวดสินค้าอุปโภคบริโภคขยายตัว แม้ยังมีแรงกดดันจากราคาสินค้าที่สูงขึ้นส่วนหมวดยานยนต์ชะลอลงหลังจากการเร่งส่งมอบในช่วงก่อนหน้าแล้ว การลงทุนภาคเอกชนหดตัวเล็กน้อย ตามการลงทุนเพื่อการผลิตส่งออกเพราะได้เร่งนำเข้าสินค้าทุนแล้วในช่วงครึ่งแรกของปี ขณะที่การลงทุนก่อสร้างปรับดีขึ้นเล็กน้อยตามยอดจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง การใช้จ่ายภาครัฐหดตัวน้อยลง ตามเงินอุดหนุนให้กับสถาบันการศึกษาในหมวดรายจ่ายประจำ ขณะที่รายจ่ายหมวดลงทุนหดตัวน้อยลงตามโครงการก่อสร้างระบบถนนและระบบชลประทานที่ปรับดีขึ้น ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจภาคเหนือ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงจากไตรมาสก่อน ตามการชะลอลงของราคาพลังงานและอาหารสด ตลาดแรงงานฟื้นตัวต่อเนื่อง สะท้อนจากจำนวนผู้ประกันตนมาตรา 33 ในระบบประกันสังคมและความเชื่อมั่นของผู้ประกอบอาชีพอิสระปรับดีขึ้นต่อเนื่อง

แนวโน้มเศรษฐกิจภาคเหนือในไตรมาส 1/2566 อยู่ในทิศทางฟื้นตัวต่อเนื่อง ตามภาคการท่องเที่ยวจากนักท่องเที่ยวต่างชาติเริ่มกลับเข้ามาเร็วกว่าคาด ประกอบกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับสู่ภาวะปกติ ตลาดแรงงานที่ทยอยฟื้นตัวต่อเนื่อง และรายได้เกษตรกรยังคงขยายตัวได้ จะเป็นปัจจัยสนับสนุนการบริโภคให้อยู่ในทิศทางฟื้นตัว แม้ยังมีปัจจัยกดดันจากค่าครองชีพที่อยู่ในระดับสูง อย่างไรก็ตาม ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเพื่อส่งออกคาดว่าได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอลง ยกเว้นในกลุ่มอาหารที่มีอุปสงค์ดีต่อเนื่อง

แม้สถานการณ์โควิด 19 คลี่คลายลงมาก แต่ ธปท. ยังคงมีมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ยังได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดมี “มาตรการสินเชื่อเพื่อการปรับตัว” เพื่อสนับสนุนธุรกิจ SMEs ประคับประคองกิจการและเพื่อการปรับตัวรองรับ new normal ไม่ว่าจะเป็นการปรับตัวให้สอดรับกับกระแสเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Technology) การดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green) หรือนวัตกรรมแห่งโลกอนาคต (Innovation) โดยผู้ประกอบธุรกิจจะได้รับวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 150 ล้านบาท มีอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 5 ปีแรกไม่เกิน 5% ต่อปี และ 2 ปีแรก อัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 2% ต่อปี โดยรัฐชดเชยดอกเบี้ยให้ 6 เดือนแรก มาตรการนี้จะสิ้นสุดในเดือนเมษายน 2566

สำหรับมาตรการเดิมที่ยังมีผลอยู่ต่อเนื่อง ได้แก่ (1) มาตรการแก้หนี้ระยะยาว ที่ช่วยสนับสนุนการปรับโครงสร้างหนี้อย่างยั่งยืนแก่ผู้ประกอบธุรกิจและประชาชนไปจนถึงสิ้นปี 2566 (2) มาตรการรีไฟแนนซ์ (refinance) และการรวมหนี้ ทั้งในธนาคารเดียวกันและต่างธนาคาร โดยสามารถรวม “หนี้สินเชื่อบ้าน” และ “สินเชื่อรายย่อยอื่นๆ” เช่น บัตรเครดิต สินเชื่อบุคคล บัตรกดเงินสด เข้าด้วยกัน เพื่อช่วยลดภาระดอกเบี้ยและการผ่อนค่างวดในระยะยาว (3) โครงการพักทรัพย์ พักหนี้ เพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจสามารถโอนทรัพย์มาชำระหนี้ได้ โดยให้สิทธิซื้อคืนภายในระยะเวลาที่ตกลงไว้ โครงการจะสิ้นสุดในเดือนเมษายน 2566 (4) การเพิ่มสภาพคล่องภายใต้มาตรการสินเชื่อฟื้นฟู เพื่อรองรับการฟื้นตัวและการปรับตัวของธุรกิจ ซึ่งจะสามารถใช้เม็ดเงินที่เหลืออยู่ได้จนถึงสิ้นเดือนเมษายน 2566 (5) มาตรการเพิ่มเติมเพื่อดูแลลูกหนี้รายย่อยที่มีความเปราะบาง เช่น คงการลดอัตราการผ่อนชำระหนี้บัตรเครดิตขั้นต่ำที่ร้อยละ 5 ออกไปอีก 1 ปี จนถึงสิ้นปี 2566 และที่ร้อยละ 8 ในปี 2567 โดยให้กลับสู่เกณฑ์ปกติที่ร้อยละ 10 ตั้งแต่ปี 2568 เป็นต้นไป, ปรับปรุงโปรแกรมการจ่ายหนี้ของโครงการคลินิกแก้หนี้ ซึ่งจะทำการเพิ่มทางเลือกในการผ่อนชำระ เพื่อจูงใจให้ลูกหนี้ที่ยังมีกำลังในการชำระหนี้สามารถจบหนี้ได้เร็วขึ้น ซึ่งลูกหนี้ที่เลือกแผนการชำระหนี้ที่มีระยะเวลาสั้น จะได้รับอัตราดอกเบี้ยที่ผ่อนปรนขึ้น

ในช่วงนี้ จะเห็นภัยทางการเงินใกล้ตัวเรามากขึ้น เช่น มิจฉาชีพแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ บอกให้แอดไลน์และคลิกลิงก์บนหน้าเว็บไซต์ปลอม เพื่อหลอกให้ดาวน์โหลดแอปพลิเคชันที่สามารถควบคุมมือถือเราได้จากระยะไกล อาจกลายเป็นสูญเงินทั้งบัญชีได้ ขอให้มีสติทุกครั้ง อย่าหลงเชื่อใครง่าย ๆ คิดให้ดีก่อนคลิก นอกจากนี้ ยังมีการหลอกลวงให้กู้เงินแบบ online ควรระวังการปล่อยกู้ที่มีลักษณะโฆษณาเกินจริง เร่งให้โอนค่าธรรมเนียมไปก่อน บอกรายละเอียดไม่หมด หรือหลอกให้เซ็น หากหลงเชื่อ สุดท้ายอาจไม่ได้เงิน แถมยังต้องสูญเงินให้แก่มิจฉาชีพอีกด้วย

หากพบปัญหาหรือต้องการรายละเอียดเพิ่มเติม โทรสอบถามได้ที่ call center 1213 และหากต้องการติดตามข่าวสารหรือข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับเศรษฐกิจการเงิน ภัยทางการเงิน และกิจกรรมต่าง ๆ ที่ ธปท. สภน. ได้ร่วมมือกับองค์กรต่าง ๆ ในท้องถิ่น สามารถดูได้ที่  https://www.facebook.com/northtoknow

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

เรื่องที่คุณอาจสนใจ