เชียงใหม่ เตรียมปรับการรักษาโควิด-19 จากโรคอุบัติใหม่ เป็นโรคประจำถิ่น

0

จังหวัดเชียงใหม่ เตรียมปรับการรักษาผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น ให้ประชาชนสามารถอยู่กับโรคได้ เพื่อลดปัญหาเกิดการดื้อยาและเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการใช้ยา

นายแพทย์กิตติพันธุ์ ฉลอม ผู้ช่วยนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยในการแถลงข่าวสื่อมวลชนประจำสัปดาห์ เกี่ยวกับการเตรียมความพร้อมในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 แบบโรคประจำถิ่น (Endemic) เพื่อให้ประชาชนสามารถอยู่กับโรคนี้ได้โดยไม่กระทบกับการดำเนินชีวิตประจำวัน

สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกเดือน มกราคม 2565 จังหวัดเชียงใหม่ ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา (มีนาคม 2565) พบผู้ติดเชื้อเฉลี่ยวันละประมาณ 3,000 ราย โดยจากข้อมูลของวันที่ 21 มีนาคม 2565 พบว่ามีผู้ติดเชื้อยืนยัน (RT-PCR) เฉลี่ย 14 วัน จำนวน 332 ราย มีผู้ติดเชื้อเข้าข่าย (ATK) เฉลี่ย 14 วัน จำนวน 3,392 ราย และมีผู้เสียชีวิตจำนวน 2 ราย โดยมีอัตราการป่วยตายลดลงกว่าร้อยละ 0.07 ซึ่งเป็นอัตราการเสียชีวิตที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัดเจน ส่งผลให้มีอัตราการครองเตียงจากผู้ป่วยโควิด-19 ลดลงเช่นกัน ดังนั้นจังหวัดเชียงใหม่จึงได้ปรับการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ให้เป็นการรักษาแบบโรคประจำถิ่น

นายแพทย์กิตติพันธุ์ ฉลอม ผู้ช่วยนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่เปลี่ยนไป จึงมีการเปลี่ยนรูปแบบการรับมือโรคโควิด-19 จากการรับมือแบบโรคอุบัติใหม่มาเป็นการดูแลแบบโรคประจำถิ่นที่จะต้องมีการบริหารจัดการทรัพยากรเพื่อเดินหน้าขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมต่อไปนั้น การดูแลรักษาผู้ติดเชื้อยังคงใช้แนวทางของกรมการแพทย์ แต่จะมีการปรับเปลี่ยนในส่วนของการขึ้นทะเบียนผู้ป่วยและการใช้สิทธิแทน นอกจากนี้จะมีการบริหารการใช้ยาอย่างสมเหตุสมผลมากขึ้นเน้นการรักษาตามอาการ เช่น การทานยาแก้ไอ ยาลดน้ำมูก หรือการทานยาฟ้าทะลายโจร และการดื่มน้ำอุ่น พักผ่อนให้เพียงพอ สำหรับผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการหรือมีอาการเพียงเล็กน้อยและไม่มีความเสี่ยง อาจไม่จำเป็นต้องใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ในการรักษา เนื่องจากร่างกายสามารถกำจัดเชื้อได้เอง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอาการดื้อยาและเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการใช้ยาได้

ทั้งนี้จึงเน้นย้ำให้ประชาชนปฏิบัติตามมาตรการ Universal Prevention หรือการป้องกันการติดเชื้อแบบครอบจักรวาลอย่างเคร่งครัด พร้อมทั้งเข้ารับการฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็ม 3 ตามโครงการ “ถกแขนเสื้อ เตื้อที่ 3 เตรียมฮับลูกหลานปิ๊กบ้านปี๋ใหม่เมือง” ของจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งหากฉีดในช่วงสัปดาห์นี้จะทำให้ภูมิต้านทานในร่างกายเพิ่มสูงขึ้นพร้อมรับการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนในช่วงก่อนเทศกาลสงกรานต์ รวมทั้งเน้นย้ำให้ประชาชนสวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งที่อยู่ในสถานที่ชุมชน เว้นระยะห่าง และล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์เป็นประจำ เพื่อลดการเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูงและลดการระบาดเชื้อในวงกว้าง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *