NIA” ผนึกกำลังพันธมิตร จัดกิจกรรม Chiang Mai Startup Day 2022 ตอกย้ำความพร้อมของเชียงใหม่ และการกลับมาเป็นหมุดหมายของสตาร์ทอัพจากทั่วโลก

0

สํานักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จับมือพันธมิตร ได้แก่ อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ Basecamp 24 ย่านนวัตกรรมการแพทย์สวนดอก ย่านนวัตกรรมเกษตรและอาหารแม่โจ้ มหาวิทยาลัยแม่โจ้, MED CMU Innovation Center (MedCHIC) สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, Amazon Web Services (AWS), AIS The StartUp, Chiang Mai Connect by Netherlands Thai Chamber of Commerce (NTCC) จัดงาน Chiang Mai Startup Day 2022 ภายใต้การดำเนินงานของ Global Startup Hub ภาคเหนือ

ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า “เชียงใหม่ มีระบบนิเวศนวัตกรรมใหญ่เป็นอันดับ 2 ของประเทศ โดยมีขนาดเศรษฐกิจที่มี GPP เฉลี่ยต่อปีราว 250,000 ล้านบาท หรือเกือบ 1% ของ GDP มีสนามบินนานาชาติ และโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เช่น มหาวิทยาลัย 7 แห่ง อุทยานวิทยาศาสตร์ 2 แห่ง เชียงใหม่ จึงถือว่าเป็น “นครแห่งการเริ่มต้นธุรกิจนวัตกรรม” รองลงมาจากกรุงเทพฯ และมีแรงดึงดูด “นวัตกร” จากทั่วโลกภายใต้ภาพลักษณ์ “เมืองแห่งกลุ่มคน…. (Digital Nomad)”

อย่างไรก็ตามในการพัฒนาระบบนิเวศนวัตกรรมของเชียงใหม่ยังมีความท้าท้ายที่ต้องเร่งดำเนินการใน
7 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ 1) Firm Capability: การสร้างและเพิ่มจำนวนผู้ประกอบการฐานนวัตกรรมให้เพียงพอต่อการเปลี่ยนแปลงของระบบนวัตกรรม 2) Human Capability: การเพิ่มและสร้างความสามารถของของนวัตกร ทั้งในฝั่งของอุปสงค์และอุปทาน 3) Innovation Infrastructure Utilization: การเพิ่มการเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานด้านนวัตกรรมในพื้นที่ 4) Innovation Opportunity & Regionalization: การกระจายโอกาสการเข้าถึงนวัตกรรมสู่ภูมิภาค 5) Regulatory Hack & Innovation-Friendly System: การผลักดันการปรับเปลี่ยนกฏ ระเบียบ ให้เอื้อต่อการพัฒนานวัตกรรม 6) Internationalization of innovation from Thailand: การสร้างการยอมรับด้านการพัฒนานวัตกรรมไทยสู่สากล และ 7) Immunity to global challenge: การพัฒนานวัตกรรมที่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์โลกในปัจจุบัน

NIA ในฐานะหน่วยงานที่เป็น Focal Facilitator ในการประสานการทำงานร่วมกันระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อดำเนินกิจกรรมทางด้านนวัตกรรม จึงได้จัดตั้ง Global Startup Hub ขึ้น สำหรับเป็นศูนย์กลางการให้บริการและสร้างเครือข่ายสตาร์ทอัพในพื้นที่ จากปัจจุบันที่มีสตาร์ทอัพประมาณ 190 บริษัทให้เพิ่มขึ้นจนเพียงพอต่อการเปลี่ยนแปลงระบบนวัตกรรม เชื่อมโยงกลไกหรือเครื่องมือต่าง ๆ ทั้งจาก NIA และหน่วยงานเครือข่ายในพื้นที่เพื่อให้สตาร์ทอัพเหล่านั้นอยู่รอดและเติบโต นอกจากนี้ ยังเป็นการสร้างแบรนด์ให้เชียงใหม่เป็น “ศูนย์กลางของการพัฒนานวัตกรรมในภูมิภาค” หรือ Chiangmai City of Innovation ที่จะดึงดูดการลงทุนด้านนวัตกรรมเพื่อการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจในพื้นที่อย่างก้าวกระโดด

ทั้งนี้ NIA ตั้งเป้าในอีก 5 ปีข้างหน้า (พ.ศ. 2570) เราจะสามารถสร้างสตาร์ทอัพเพิ่มขึ้นเป็น 1,000 บริษัทที่จะเข้ามาอยู่ในระบบนวัตกรรมจังหวัดเชียงใหม่ โดยแบ่งเป็น Tech Startup จำนวน 300 บริษัท และ MARtech (Music Art and Recreation Technology) Startup จำนวน 700 บริษัท รวมถึงสามารถสร้าง DeepTech Startup ที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจระดับมากกว่า 1,000 ล้านบาท จำนวน 30 บริษัท ซึ่งจะก่อให้เกิดการลงทุน การจ้างงาน และการพัฒนาทักษะด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่มีต่อผลกระทบทางเศรษฐกิจโดยคาดหวังให้ GDP ของพื้นที่เชียงใหม่เพิ่มขึ้นเป็น 500,000 ล้านบาท หรือกว่า 1 เท่าตัว สำหรับงาน Chiang Mai Startup Day 2022 ที่จัดขึ้นนี้ ถือเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่จะตอบโจทย์ความพร้อมของเมืองเชียงใหม่ในการเปิดเมืองต้อนรับ Tech Startup นักลงทุน ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม ให้เข้ามาประกอบธุรกิจ ลงทุน และขับเคลื่อนเศรษฐกิจในพื้นที่ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อให้เชียงใหม่เป็นหมุดหมายใหม่ของ Digital Nomad และสตาร์ทอัพจากทั่วโลก นอกจากนี้ ยังเป็นส่วนหนึ่งของงาน STARTUP x INNOVATION THAILAND EXPO 2022 (SITE 2022) ที่จะจัดขึ้นวันที 23-25 มิถุนายน 2565 ในรูปแบบไฮบริด ภายใต้แนวคิด “Reconnecting the World เชื่อมเรา เชื่อมโลก กลับมาเจอกัน” เพื่อประกาศให้ทั่วโลกรับรู้ว่าประเทศไทยมีเมืองนวัตกรรมที่มีจุดเด่นและเอกลักษณ์เฉพาะตัวสำหรับการสร้างสรรค์นวัตกรรมที่จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่ และพร้อมที่จะเชื่อมต่อกับเมืองนวัตกรรมจากทั่วโลกเพื่อฟื้นฟูให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจร่วมกันได้ต่อไป

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

เรื่องที่คุณอาจสนใจ