ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดเชียงใหม่ นำผู้ประกอบการท่องเที่ยวและสื่อฯ เปิดเส้นทางท่องเที่ยว “ชาติพันธุ์สีสันแห่งล้านนา” เส้นทางที่ 2 พื้นที่เชียงใหม่และแม่ฮ่องสอน

0

สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดเชียงใหม่ โดย นายอิทธิรัฐ สินารักษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดเชียงใหม่ นำคณะผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยว หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และสื่อมวลชน Influencer ร่วมเดินทางเปิดเส้นทางท่องเที่ยว “ชาติพันธุ์สีสันแห่งล้านนา” เส้นทาง เชียงใหม่ ปาย แม่ฮ่องสอน

โดยในการเดินทางครั้งนี้ เป็นการสำรวจเส้นทางการท่องเที่ยววิถีชุมชนชาติพันธุ์ ในโครงการ “ชาติพันธุ์สีสันแห่งล้านนา” ซึ่งจัดโดย สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อเปิดเส้นทางการท่องเที่ยวใหม่ๆ ในรูปแบบของวิถีชุมชน ภายใต้โครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวชาติพันธุ์อย่างยั่งยืน (Ethnic Lanna Tourism) ประจำปีงบประมาณ 2568 ระหว่างวันที่ 18 – 20 กรกฎาคม 2568 เส้นทางที่ 2 ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ – แม่ฮ่องสอน

เส้นทางท่องเที่ยวดังกล่าวมีดังนี้

– วันแรก เดินทางไปยังชุมชนไตลื้อ บ้านลวงเหนือ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ ชมวิถีชีวิตชาวไตลื้ออันเป็นเอกลักษณ์ ทั้งประเพณี ความเชื่อ วัฒนธรรม การแต่งกาย และอาหาร

– เดินทางไปชุมชนป่าไผ่ อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ เป็นชุมชนเกษตรกรรมที่มีการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยน้อมนำแนวคิด “โคก หนอง นา” โมเดล มาปรับใช้ในชุมชน เน้นความสมดุลของคน ป่า และน้ำ พร้อมร่วมชมการแสดงศิลปวัฒนธรรม และชิมอาหารพื้นถิ่นของชุมชน

วันที่สอง

– แวะชมจุดชมวิวบ้านลุกข้าวหลาม อำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน ตั้งอยู่ในพื้นที่ชุมชนชาติพันธุ์ไทใหญ่ – ไทลื้อ ที่ยังคงรักษาวิถีชีวิตดั้งเดิมเอาไว้อย่างเหนียวแน่น ที่นี่สามารถสัมผัสบรรยากาศยามเช้า ทะเลหมอก และพระอาทิตย์ขึ้นได้อย่างสวยงาม

– จากนั้นเดินทางไปยังสะพานซูตองเป้ เป็นภาษาไทใหญ่ แปลว่า “อธิษฐานสำเร็จ” สะพานแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นจากความร่วมมือของชาวบ้านและพระภิกษุสงฆ์ เพื่อเป็นทางเดินของพระภิกษุสงฆ์ในการบิณฑบาตร และเพื่อให้ชาวบ้านสามารถเดินทางเชื่อมระหว่างหมู่บ้านและวัดได้ง่ายขึ้น โดยใช้วัสดุจากธรรมชาติ โดยไม่ใช้งบประมาณจากรัฐ ตัวสะพานทอดผ่านทุ่งนาเขียวขจีมีฉากหลังเป็นภูเขาอย่างสวยงาม ปัจจุบันเป็นแหล่งท่องเที่ยวชื่อดังของจังหวัดแม่ฮ่องสอน

– เดินทางไปบ้านรักไทย อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน เป็นหมู่บ้านของชาวจีนยูนนาน จีนคณะชาติที่ 93 หรือกองพล 93 ได้มาตั้งรกรากถาวรอยู่ในบริเวณชายแดนไทย-เมียนม่า โดยได้รับอนุญาตให้อยู่อาศัยภายใต้การดูแลของรัฐบาลไทย หมู่บ้านแห่งนี้เป็นอีกหนึ่งสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมของแม่ฮ่องสอน ด้วยความสวยงามของธรรมชาติโดยรอบ จิมชาชมทะเลหมอกที่งดงาม ทะเลสาบขนาดใหญ่กลางหมู่บ้านที่สามารถล่องเรือชมความงามของบรรยากาศโดยรอบ รวมทั้งอาหารพื้นถิ่นที่อร่อย และผู้คนที่เป็นมิตร

วันที่สาม เดินทางไปบ้านแพมบก อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นหมู่บ้านของชนเผ่าลาหู่ เป็นหมู่บ้านที่เงียบสงบ เหมาะกับการท่องเที่ยวแบบ Slow Life มีน้ำตกแพมบกที่สวยงาม รวมทั้ง “สะพานโขกู้โส่” สะพานบุญที่ทอดผ่านระหว่างหมู่บ้านกับวัดกลางทุ่งนา คล้ายกับสะพานซูตองเป้ มีความสวยงาม และเริ่มเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยว

– จากนั้นเดินทางกลับเชียงใหม่โดยสวัสดิภาพ

โดยโครงการดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมการท่องเที่ยววิถีชุมชน ที่ให้นักท่องเที่ยวได้ใช้เวลาอยู่ร่วมกับชุมชนแบบ Slow Life ท่ามกลางธรรมชาติที่สวยงาม พร้อมกิจกรรมที่น่าสนใจมากมาย ส่งเสริมให้ชุมชนเล็กๆ ในชนบทได้มีโอกาสได้รับประโยชน์จากการท่องเที่ยวด้วยเอกลักษณ์ที่ชุมชนมีอยู่ และกระจายรายได้ลงสู่ชุมชนมากยิ่งขึ้น โดยผู้ประกอบการการท่องเที่ยวที่ร่วมเดินทาง จะได้นำไปนำเสนอขายให้กับนักท่องเที่ยวต่อไป

จัดโดย สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดเชียงใหม่

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

เรื่องที่คุณอาจสนใจ