พาณิชย์จังหวัดภาคเหนือ 17 จังหวัด จัดแถลงข่าวการจัดงาน “GI สินค้าอัตลักษณ์ สินค้าบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ภูมิปัญญาภาคเหนือ”


เชียงใหม่, เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2568 – สำนักงานพาณิชย์จังหวัดภาคเหนือ 17 จังหวัด จัดแถลงข่าวการจัดงาน “GI สินค้าอัตลักษณ์ สินค้าบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ภูมิปัญญาภาคเหนือ” โดยมี นางกนกรัตน์ ยุกติรัตน์ พาณิชย์จังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วยนางณัฐพร มหาไพบูลย์ พาณิชย์จังหวัดเชียงราย เป็นประธานร่วมแถลงข่าว ท่ามกลางแกบุคคลสำคัญและสื่อมวลชนที่เข้าร่วมงานมากมายในครั้งนี้ ณ ห้องประชุม ibis 4 โรงแรมไอบิส สไตล์ เชียงใหม่


โดยสำนักงานพาณิชย์จังหวัดภาคเหนือ 17 จังหวัด มุ่งหวังเดินหน้ากระตุ้นเศรษฐกิจชุมชนยกระดับสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) สินค้าผลิตภัณฑ์จังหวัด PB (Provincial Brand) และ สินค้าอัตลักษณ์เด่นของจังหวัดภาคเหนือสู่ต่างจังหวัดในงาน “GI สินค้าอัตลักษณ์ สินค้าบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ภูมิปัญญาภาคเหนือ” โดยนำสินค้า GI สินค้าผลิจภัณฑ์จังหวัด PB และสินค้าอัตลักษณ์เด่น จากแหล่งผลิตส่งตรงถึงมือผู้บริโภคทั้งภาคกลาง และภาคใต้มากกว่า 35 คูหา สำหรับสินค้าที่นำมาจำหน่าย เช่น ศิลาดลเชียงใหม่ ชามไก่ลำปาง สับปะรดภูแล เกลือภูเขาบ่อเกลือน่าน กาแฟเทพเสด็จ ผ้าหม้อห้อมแพร่ เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย กระเป๋าจากผักตบชวา เป็นต้น


ซึ่งจัดขึ้นจำนวน 2 ครั้ง ครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 11 – 15 มิถุนายน 2568 ณ ลานกิจกรรมชั้น 1 ศูนย์การค้าเซ็นหรัลชลบุรี จังหวัดชลบุรี และครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 13 – 17 สิงหาคม 2568 ณ ลานโปรโมชั่น ชั้น 1 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา


นางกนกรัตน์ ยุกติรัตน์ พาณิชย์จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า จากการที่ภาคเหนือมีความอุดมสมบูรณ์ทั้งด้านทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรม มีศักยภาพในการผลิตสินค้าเกษตร สินค้าแปรรูป และหัตถกรรมพื้นถิ่นที่สะท้อนถึงอัตลักษณ์และภูมิปัญญาท้องถิ่นได้อย่างชัดเจน มีสำนักงานพาณิชย์จังหวัดเป็นหน่วยงานขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ส่งเสริมการตลาตในระดับพื้นที่ให้มุ่งสู่การพัฒนาไปสู่การเป็น “ฐานเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศ” จึงส่งเสริมและขยายตลาดสินค้าอัตลักษณ์ของ 17 จังหวัดภาคเหนือ พร้อมยกระดับคุณภาพและสินค้าให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น ให้เข้าถึงตลาดเชิงพาณิชย์ทั้งในและต่างประเทศ สร้างรายได้ให้ชุมชน และยกระดับเศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืน


นางณัฐพร มหาไพบูลย์ พาณิชย์จังหวัดเชียงราย กล่าวเสริมถึงแนวทางความร่วมมือ สนับสนุนการจัดงานฯ ของกลุ่มภาคเหนือว่า มีกลุ่มผู้ประกอบการที่มีศักยภาพมีความพร้อมในการเชื่อมโยงสินค้าและบริการกับพื้นที่เศรษฐกิจในภูมิภาคอื่นในการส่งสินค้าหรือรองรับการบริการจากนักท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศได้เป็นอย่างดี จึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่ต้องส่งเสริมและผลักดันสินค้าเพื่อให้ผู้บริโภคได้รับรู้ถึงคุณภาพของผลิตภัณฑ์กลุ่มจังหวัดภาคเหนือที่มีอย่างมากมาย และสามารถช่วยขยายตลาดการค้าหรือการลงทุนไปสู่ระดับสากลให้ได้


สำหรับผู้ประกอบการสินค้า GI “ศิลาดลเชียงไหม่” และ “กาแฟเทพเสด็จ” กล่าวเสริมว่า การจัดงานดังกล่าว สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจของกลุ่มจังหวัดภาคเหนือ และเป็นการส่งเสริมช่องทางด้านการตลาด สร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้ารับรู้ถึงคุณค่าและความเป็นเอกลักษณ์ และเพิ่มโอกาสทางการค้าเนื่องจากได้รับความเชื่อมั่นจากผู้บริโภค ทั้งในประเทศและต่างประเทศ สามารถกระจายรายได้สู่ชุมชน รายได้จะไหลกลับไปยังผู้ผลิตตั้งเดิม ซึ่งเป็นเกษตรกรหรือช่างฝีมือในท้องถิ่น ด้วยคุณภาพและความโดดเด่น สินค้า GI หลายรายการส่งออกได้ และได้รับการ
ยอมรับในต่างประเทศ “ภูมิใจที่ได้ใช้ของไทย” ซึ่งยืนหยัดในเวทีสากล
.
นางกนกรัตน์ กล่าวทิ้งท้ายว่า งาน “GI สินค้าอัตลักษณ์ สินค้าบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ภูมิปัญญาภาคเหนือ” ถือเป็นอีกหนึ่งโครงการสำคัญที่ขยายช่องทางการตลาดให้กับผู้ผลิตและผู้ประกอบการ GI สินค้าผลิตภัณฑ์จังหวัด PB (Provincial Brand) และ สินค้าอัตลักษณ์เด่น และสร้างการรับรู้ให้กับผู้บริโภค อันสอดคล้องกับทิศทางการดำเนินงานกระทรวงพาณิชย์ “เศรษฐกิจการค้าไทยเข้มแข็ง เป็นธรรม เติบโตอย่างยั่งยืน”















