ททท. ร่วมจังหวัดเชียงใหม่จัดพิธีจุมน้ำทิพย์ศักดิ์สิทธิ์ เตรียมแจกจ่ายในเทศกาลปี๋ใหม่เมืองเจียงใหม่ 2567

0

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ร่วมกับจังหวัดเชียงใหม่จัดทำพิธี “จุมน้ำทิพย์ศักดิ์สิทธิ์และ           พิธีสวดเจริญพุทธมนต์น้ำทิพย์พุทธาภิเษก” ตามพิธีกรรมล้านนาโบราณ วันพุธที่ 10 เมษายน 2567 ณ วัดพระธาตุดอย     สุเทพราชวรวิหาร ก่อนบรรจุเป็น “น้ำทิพย์ปี๋ใหม่เมืองเจียงใหม่” เนื่องในประเพณีสงกรานต์และร่วมฉลอง 728 ปีเมืองเชียงใหม่ โดยมีกำหนดแจกจ่ายฟรี ในวันที่ 12-16 เม.ย. 67 ใน 6 จุด ทั่วเมืองเชียงใหม่ ได้แก่ ศูนย์การค้า เซ็นทรัลเชียงใหม่, ศูนย์การค้า เซ็นทรัลเชียงใหม่ แอร์พอร์ต, วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร, วัดบุพพาราม, วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร, วัดพระธาตุดอยสุเทพราชวิหาร จำนวน 10,728 ขวด

ในกิจกรรม “น้ำทิพย์ปีใหม่เมืองเจียงใหม่” ปีนี้ ททท.ร่วมส่งเสริมและยกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชนบ้านเหมืองกุงผู้เริ่มต้นในการรื้อฟื้นวัฒนธรรมการใช้หม้อดอกที่สูญหายให้กลับคืนมามีบทบาทและความสำคัญในเทศกาลสงกรานต์อีกครั้งโดยชุมชนบ้านเหมืองกุงได้เป็นผู้ออกแบบรังสรรค์หม้อดอกด้วยลวดลายพญานาค ๙ ลาย จำนวน ๑๘ ใบ ในการประกอบพิธีอัญเชิญน้ำทิพย์ศักดิ์สิทธิ์ทั้ง ๙ แหล่ง นำมาประกอบพิธีจุมน้ำทิพย์ศักดิ์สิทธิ์เมื่อเวลา 09.09 น.ที่ผ่านมาตาจารีตประเพณีล้านนาโบราณและพิธีสวดเจริญพุทธมนต์น้ำทิพย์พุทธาภิเษกเในเวลา 19.09 น. ณ วัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร

หมู่บ้านเหมืองกุงเครื่องปั้น อ.หางดง เดิมเป็นหมู่บ้านเก่าแก่ของจังหวัดเชียงใหม่ที่มีการปั้นน้ำต้นและหม้อน้ำมานานกว่า 200 ปี ชาวบ้านเหมืองกุงส่วนหนึ่งพื้นเพเป็นชาวไทใหญ่ที่อพยพมาจากรัฐเชียงตุง ปัจจุบันชาวบ้านเหมืองกุงยังคงสืบสานในการอนุรักษ์ การทำเครื่องปั้นดินเผาแบบดั้งเดิมไว้ให้คนรุ่นหลังได้ชมโดยผลิตภัณฑ์เด่นของหมู่บ้านคือ “หม้อดอก” หรือคนโทใส่น้ำบ้านเหมืองกุงมีเทคนิคในการขัดเงาเครื่องปั้นดินเผาที่ไม่เหมือนที่ไหนคือใช้ก้อนหินจาก     ลำธามาขัดบนเครื่องปั้นดินเผาเบาๆก็ทำให้ผิวขึ้นเงาอย่างง่ายดาย “หม้อดอก” หรือ “หม้อปูรณฆฏะ” หมายถึง หม้อน้ำแห่งความอุดมสมบูรณ์และความเจริญงอกงาม ในล้านนาหม้อดอกเป็นพุทธสัญลักษณ์สำคัญแห่งล้านนา โดยถูกนำมาใช้ในทางพุทธศาสนาเพื่อเป็นเครื่องบูชา สักการะ พระรัตนตรัยโดยจะปรากฏหม้อดอกในสถาปัตยกรรมศาสนสถานตาม   จิตกรรมฝาผนังในวิหารต่างๆในอดีตหม้อดอกกับเทศกาลปีใหม่เมือง คนล้านนาจะเปลี่ยนหม้อดอกในวันสังขานต์ล่อง    ในหม้อจะใส่ทรายและน้ำ ก่อนนำใบหมากผู้หมากเมีย ดอกเอื้องผึ้ง มาปักในหม้อดอกและประดับด้วยช่อตุงสีต่างๆ      ถือเป็นหนึ่งกิจกรรมที่ในอดีตที่ทำกันทุกบ้านหลังคาเรือนเพื่อสักการะและเป็นการบอกกล่าวกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ถึงการเข้าสู่ ปีใหม่เมืองอีกครั้งซึ่งจารีตดังกล่าวแทบจะสูญหายไปแล้วในสังคมคนรุ่นใหม่

นอกจากนี้ ในวันที่ 12 เมษายน 2567 จะมีขบวนแห่อัญเชิญน้ำทิพย์นมัสการพระพุทธสิหิงค์ เพื่อเป็นสิริมงคลเนื่องในเทศกาล “ปี๋ใหม่เมืองเชียงใหม่ มหาสงกรานต์ล้านนา” วันที่ 13 เมษายน 2567 พิธีอัญเชิญ “พระพุทธสิหิงค์” พระสำคัญคู่บ้านคู่เมืองเมืองเชียงใหม่ ขึ้นรถบุศบก ณ วิหารลายคำ วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร อำเภอเมืองเชียงใหม่ และพิธีอัญเชิญน้ำทิพย์ เบิกฤกษ์ ปะพรม “พุทธสิหิงค์” และวันที่ 16 เมษายน 2567 ขบวนแห่ “สระเกล้าดำหัวป้อเมืองเชียงใหม่” ประเพณีรดน้ำดำหัวผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่

สำหรับผู้ที่สนใจเข้าร่วมกิจกรรมฯ สามารถสอบถามข้อมูลการจัดกิจกรรมน้ำทิพย์ปี๋ใหม่เมืองเชียงใหม่ ได้ที่ ททท. สำนักงานเชียงใหม่ โทร. 0 5324 8604 หรือเฟชบุ๊ค : ททท. สำนักงานเชียงใหม่

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

เรื่องที่คุณอาจสนใจ