รองผู้ว่าฯ เน้นย้ำให้ประชาชนระมัดระวังโรคไข้เลือดออกและโรคฝีดาษวานร (Monkeypox)
รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่เน้นย้ำให้ประชาชนระมัดระวังโรคไข้เลือดออกและโรคฝีดาษวานร (Monkeypox) หลังองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ประกาศให้เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ (PHEIC)
นายวรวิทย์ ชัยสวัสดิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดต่อในพื้นที่โดยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ ได้รายงานสถานการณ์แพร่ระบาดโรคไข้เลือดออกว่า จังหวัดเชียงใหม่พบผู้ป่วยติดเชื้อ 768 ราย อำเภอที่มีผู้ติดเชื้อสูง 3 อันดับ ได้แก่ อำเภอเมืองเชียงใหม่ 126 ราย อำเภอเวียงแหง 113 ราย อำเภอเชียงดาว 78 ราย ด้านนายแพทย์กิตติพันธุ์ ฉลอม ผู้ช่วยนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ ได้กล่าวถึงมาตรการควบคุมโรคไข้เลือดออกในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ว่า ขณะนี้จังหวัดเชียงใหม่ มีแผนปฏิบัติการควบคุมโรคและเฝ้าระวังกำจัดยุงลาย ตามระดับของการระบาด โดยพื้นที่สีแดง ที่พบการแพร่ระบาดต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า 2 สัปดาห์ ให้ทำการพ่นสารเคมีกำจัดยุงตัวแก่ทุกสัปดาห์ พื้นที่สีเหลือง ซึ่งพบผู้ป่วยแต่ยังไม่พบการแพร่ระบาด ให้ทำการพ่นสารเคมีกำจัดยุงตัวแก่ในรัศมี 100 เมตร พร้อมสำรวจบ้านเรือนประชาชนทุก 3-5 วัน ซึ่งหากดำเนินการตามมาตรการนี้จะสามารถควบคุมการระบาดของโรคได้ ส่วนพื้นที่สีเขียวยังไม่พบการติดเชื้อ ให้มีการสุ่มสำรวจตามจุดเสี่ยงทุกสัปดาห์ โดยเน้นสถานที่สำคัญ เช่น วัด โรงเรียน ตลาด พร้อมดูแลติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
สำหรับสถานการณ์โรคฝีดาษวานร (Monkeypox) องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ประกาศให้โรคฝีดาษวานร (Monkeypox) เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ (PHEIC) เมื่อวันที่ 23 ก.ค. 65 ที่ผ่านมา เพื่อแจ้งเตือนประชาชนให้ติดตามเฝ้าระวัง และเตรียมความพร้อมรับมือหากเกิดการระบาดขึ้น ขณะนี้พบผู้ป่วยยืนยันทั่วโลก จำนวน 12,608 ราย โดยประเทศไทยพบผู้ป่วยแล้ว 1 ราย อย่างไรก็ตามในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ยังไม่พบผู้ป่วยโรคนี้แต่อย่างใด
นายวรวิทย์ ชัยสวัสดิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ได้กล่าวว่า แม้ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่จะยังไม่พบผู้ป่วยโรคฝีดาษวานร(Monkeypox) แต่ยังต้องเฝ้าระวังและประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสาร มาตรการป้องกันตนเองให้ประชาชนรับทราบอย่างทั่วถึง พร้อมกำชับไปยังสถานพยาบาลหรือคลินิกต่างๆ หากพบผู้ที่มีอาการเข้าข่ายต้องรีบแจ้งและดำเนินการตามมาตรการทันที สำหรับโรคไข้เลือดออก ให้นายอำเภอทุกแห่ง บูรณาการป้องกันและแก้ไขปัญหา ร่วมกับหน่วยงานสาธารณสุข และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นการประชาสัมพันธ์ รวมถึงการฉีดพ่นสารกำจัดยุง การจัดซื้อทรายอะเบทแจกให้แก่ประชาชน เพื่อกำจัดยุงลายและแหล่งแพร่พันธุ์ยุงลาย ควบคุมการระบาดให้ลดน้อยลง