หอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ แถลงภาวะเศรษฐกิจจังหวัดเชียงใหม่ปี 2564 และไตรมาส 1 ปี 2565

0

เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2565 เวลา 09.00 น. ณ สำนักงานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ นายจุลนิตย์ วังวิวัฒน์ ประธานหอการค้า จังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วยตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมกันแถลงภาวะเศรษฐกิจจังหวัดเชียงใหม่ปี 2564 และไตรมาสที่ 1 ปี 2565 ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้             

นายจุลนิตย์ วังวิวัฒน์ ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่

ปี 2564 เศรษฐกิจจังหวัดเชียงใหม่กระเตื้องขึ้นจากปีก่อน โดยปรับตัวดีขึ้นเป็นช่วง ๆ ตามการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด ช่วงไตรมาสที่ 4 ปรับตัวดีขึ้นมากหลังผ่อนคลายมาตรการควบคุมฯ และเข้าสู่ฤดูการท่องเที่ยว  ทำให้การบริโภคภาคเอกชนปรับตัวดีตาม  การลงทุนภาคเอกชนโดยเฉพาะด้านก่อสร้างมีสัญญาณฟื้นตัว  ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐทั้งการลงทุนและประจำขยายตัว ผลผลิตภาคเกษตรเพิ่มขึ้นจากภาวะอากาศที่เอื้ออำนวย แต่ราคาส่วนใหญ่ลดลง ผลผลิตอุตสาหกรรมเกษตรส่งออกเพิ่มขึ้น  เงินให้สินเชื่อกระเตื้องขึ้น ขณะที่ราคาสินค้าเร่งตัวขึ้นจากราคาพลังงานเป็นสำคัญ ตลาดแรงงานปรับดีขึ้นบ้างตามเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวช้า ๆ

รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจจังหวัดเชียงใหม่ ดังนี้

             ภาคการท่องเที่ยว   ปี 2564 กระเตื้องขึ้นจากปี 2563 แต่ระหว่างปีมีความแตกต่างกันมาก โดยไตรมาสที่ 3 ประสบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ที่รุนแรง ใช้มาตรการควบคุมที่เข้มงวดงดเที่ยวบินเส้นทางภายในประเทศตั้งแต่ 21 กรกฎาคม ถึง 31 สิงหาคม 2565 ส่งผลให้นักท่องเที่ยวไทยลดการเดินทาง ส่วนนักท่องเที่ยวต่างชาติยังคงหดตัวสูง ส่วนไตรมาสที่ 4 กระเตื้องขึ้นจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด การเร่งฉีดวัคซีน พร้อมทั้งเป็นช่วงเข้าสู่ฤดูท่องเที่ยวของจังหวัด  นักท่องเที่ยวชาวไทยมีความเชื่อมั่นได้เดินทางเข้ามามากขึ้นทั้งทางอากาศและทางบก  อัตราการเข้าพักสูงขึ้น  

             การบริโภคภาคเอกชน  การใช้จ่ายกระเตื้องขึ้นตามภาวะการท่องเที่ยวและมาตรภาครัฐในการเพิ่มกำลังซื้อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้บริโภค  ผู้บริโภคมั่นใจในการใช้จ่ายมากขึ้น การซื้อและขนส่งสินค้ากระเตื้องขึ้น ประชาชนออกไปจับจ่ายในช่องทางปกติมากขึ้น การซื้อสินค้าออนไลน์ชะลอลงช่วงปลายปี ส่งผลดีต่อการจ้างงานในจังหวัด การใช้จ่ายสินค้าคงทน เช่น รถยนต์นั่งส่วนบุคคล รถจักรยานยนต์ หดตัวมากช่วงปลายปี 2564 จากกำลังซื้อที่อ่อนแอ ประกอบกับการผลิตรถยนต์ประสบปัญหาขาดชิ้นส่วน  การบริโภคสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าขยายตัวตามการทำงานและเรียนที่บ้าน

            การลงทุนภาคเอกชน  หดตัวตามภาพรวมเศรษฐกิจและการลงทุนก่อสร้าง เนื่องจากธุรกิจส่วนใหญ่ชะลอแผนการลงทุน และสถาบันการเงินระมัดระวังการพิจารณาให้สินเชื่อบ้านอยู่อาศัย ส่งผลให้มีสต๊อกคงค้างค่อนข้างมาก บ้านแนวราบยังทรงตัวได้ดี ในขณะที่บ้านแนวสูงความความต้องการทรงตัว ส่วนการลงทุนเพื่อการผลิตส่วนใหญ่ชะลอแผนการลงทุนออกไป อย่างไรก็ดีช่วงไตรมาสที่ 4 การลงทุนในภาคอสังหาริมทรัพย์หดตัวน้อยลง  ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลังผ่อนคลายมาตรการควบคุมและภาคอสังหาริมทรัพย์มีสัญญาณฟื้นตัว พื้นที่ขอรับอนุญาตก่อสร้างในเขตเทศบาลเพิ่มขึ้น ส่วนยอดจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ลดลง แต่เป็นปัญหาการขาดแคลนรถยนต์ส่งมอบ

           การใช้จ่ายภาครัฐ  เพื่อการอุปโภคบริโภคและลงทุนของภาครัฐบาลผ่านสำนักงานคลังจังหวัดเชียงใหม่ ปีปฏิทิน 2564 เพิ่มขึ้นในเกณฑ์ปกติ โดยงบรายจ่ายรวมและงบลงทุนเพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 4.8 และร้อยละ 6.8 ตามลำดับ รายจ่ายประจำขยายตัว ส่วนรายจ่ายลงทุนขยายตัวในส่วนของสถาบันการศึกษา โครงการชลประทานและสาธารณสุข เช่น โครงการเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนอุดมธาราของจังหวัด เป็นต้น

           ภาคเกษตร  ผลผลิตเกษตรสำคัญ เช่น ข้าว ลำไย ส้ม กระเทียม ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เพิ่มขึ้นในเกณฑ์ดี  ผลผลิตสุกรลดลงมาก เนื่องจากต้นทุนการอาหารสัตว์สูงขึ้น การคุมเข้มมาตรฐานความปลอดภัยการเลี้ยง และผู้ผลิตหลายรายประสบปัญหาโรคระบาดสุกร สำหรับราคาที่เกษตรกรขายได้ส่วนใหญ่ลดลง  เนื่องจากผลผลิตเพิ่มจากสภาพอากาศเอื้ออำนวย  ทำให้รายได้เกษตรกรโดยเฉลี่ยลดลง อย่างไรก้ดีสำหรับราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์สูงขึ้นเพื่อผลิตอาหารสัตว์ 

          ภาคอุตสาหกรรม ขยายตัวช่วงครึ่งหลังของปี 2564 เครื่องชี้ภาษีมูลค่าเพิ่มของภาคอุตสาหกรรมช่วงครึ่งหลังของปีเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 21  ผลผลิตอุตสาหกรรมเกษตรเพิ่มขึ้นตามความต้องการของตลาดต่างประเทศ สำหรับการใช้ไฟฟ้าภาคอุตสาหกรรมลดลงช่วงครึ่งหลังของปี เนื่องจากสถานประกอบการบางแห่งปิดดำเนินการหรือปิดชั่วคราวจากโควิด มีความสนใจลงทุนในอุตสาหกรรมอาหารและผลิตภัณฑ์เพื่อก่อสร้าง

         ภาคการเงิน  ณ สิ้น ธ.ค. 2564 เงินฝากสาขาธนาคารพาณิชย์จังหวัดเชียงใหม่ขยายตัวร้อยละ 3.3  ตามมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐ และการเก็บออมของผู้ฝากที่ระมัดระวังการใช้จ่าย ส่วนเงินให้สินเชื่อเร่งตัวขึ้นร้อยละ 2.2 จากสิ้นปีก่อน สินเชื่อที่เพิ่มเป็นสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภค สินเชื่อบริการ สินเชื่อค้าส่งค้าปลีกและก่อสร้าง

        เสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปสูงขึ้นร้อยละ 1.1 จากราคาพลังงานที่สูงขึ้นตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกและราคาอาหารสด อาหารสำเร็จรูป  สำหรับตลาดแรงงานปรับดีขึ้นบ้างตามเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวช้า ๆ  จังหวัดเชียงใหม่มีแรงงานคืนถิ่นจากวิกฤตโควิด ซึ่งควรสนับสนุนยกระดับความรู้และเทคโนโลยี            ในไตรมาสที่ 1 ปี 2565 เศรษฐกิจจังหวัดเชียงใหม่ปรับตัวดีขึ้นจากท่องเที่ยวฟื้นตัวดีเทียบกับไตรมาสก่อน จากสถานการณ์โควิดคลี่คลาย ส่งผลให้การบริโภคปรับดีขึ้น ช่วงปลายไตรมาสชะลอลงบ้างจากการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์ Omicron สำหรับการลงทุนภาคเอกชนพบว่าผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์เริ่มพัฒนาที่อยู่อาศัย  สำหรับค่าใช้จ่ายภาครัฐเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อน ด้านผลผลิตเกษตรลดลง ขณะที่ผลผลิตอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นเล็กน้อย  เงินฝากเร่งตัวขึ้น ส่วนเงินให้สินเชื่อชะลอลงเล็กน้อย อัตราเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นมากร้อยละ 3.5 จากราคาพลังงานและอาหารสด

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *