สนง.ส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 สงขลา เตรียมนำผลไม้ชั้นดีจากใต้มาให้ชาวเชียงใหม่ได้ลิ้มลอง ภายในงาน “มหกรรมไม้ผลอัตลักษณ์ภาคใต้ ’63”

0

สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 สงขลา เตรียมนำทัพผลไม้ชั้นดีจากภาคใต้ ทั้ง ลองกอง สละ ทุเรียน เงาะ มังคุด ส้มโอ จำปาดะ และอื่นๆ จากเกษตรกรภาคใต้มาจำหน่ายให้ชาวเชียงใหม่ได้ซื้อหาและลิ้มลอง ภายในงาน “มหกรรมไม้ผลอัตลักษณ์ภาคใต้ ‘63” ระหว่างวันที่ 30 กรกฎาคม – 3 สิงหาคม 2563 ณ ศูนย์การค้ามีโชคพลาซ่า อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่

เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2563 เวลา 17.00 น. ณ ศูนย์การค้ามีโชคพลาซ่า อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ นายสุพิท  จิตรภักดี ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา พร้อมด้วยตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมกันแถลงข่าวการจัดงาน “มหกรรมไม้ผลอัตลักษณ์ภาคใต้ ‘63” ซึ่งจัดขึ้นเพื่อเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกผลไม้ภาคใต้ ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ไวรัสโควิด – 19 ในช่วงที่ผ่านมา โดยเร่งส่งเสริมการตลาดเพื่อกระจายผลไม้คุณภาพไปยังภูมิภาคต่างๆ เป็นการเพิ่มช่องทางการจำหน่ายให้กับเกษตรกรได้แนะนำผลไม้คุณภาพจากภาคใต้ไปสู่ผู้บริโภคทั่วประเทศ โดยงานจะจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 30 กรกฎาคม – 3 สิงหาคม 2563 ณ ศูนย์การค้ามีโชคพลาซ่า อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่

ภายในงานมีการออกร้านจำหน่ายผลไม้คุณภาพดีจากเกษตรกรผู้ปลูกผลไม้ภาคใต้ มาจำหน่ายให้กับผู้บริโภคชาวเชียงใหม่และภาคเหนือโดยตรง ทั้งทุเรียน มังคุด เงาะ ลองกอง ส้มโอ สละ จำปาดะ ซึ่งมีความโดดเด่นในด้านรสชาติและมีความสำคัญทางเศรษฐกิจตามบริบทของพื้นที่ และมีอัตลักษณ์เฉพาะตัว รวมทั้งได้รับมาตรฐานสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ของกระทรวงพาณิชย์ ทั้งนี้ ผลไม้ที่มีอัตลักษณ์เฉพาะถิ่นของภาคใต้ ได้แก่ ทุเรียนทรายขาว ทุเรียนพวงมณียะรัง ของจังหวัดปัตตานี ทุเรียนสะเด็ดน้ำ จังหวัดยะลา ทุเรียนสาลิกา มังคุด จังหวัดพังงา สละอินโด และลองกอง จังหวัดนราธิวาส สะละ จังหวัดพัทลุง จำปาดะขวัญสตูล ส้มโอทับทิมสยาม จังหวัดนครศรีธรรมราช มังคุดในวง จังหวัดระนอง มังคุดในสายหมอก อำเภอเบตงจังหวัดยะลา มะม่วงเบา จังหวัดสงขลา เป็นต้น จึงขอเชิญชวนคนไทยร่วมอุดหนุนผลไม้ไทย “ซื้อสินค้าเกษตรไทย เกษตรกรอยู่ได้ ประเทศไทยอยู่รอด” พร้อมทั้งสามารถเลือกซื้อสินค้าของเกษตรกรผ่านเว็บไซต์ www.ตลาดเกษตรกรออนไลน์.com ได้ ทั้งนี้ จึงขอประชาสัมพันธ์และเผยแพร่การส่งเสริมการสร้างอัตลักษณ์ผลไม้ เพื่อสร้างการรับรู้ให้กับผู้บริโภคทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ ได้รับทราบคุณค่า คุณประโยชน์ และแหล่งที่มาที่ถูกต้องของผลไม้อัตลักษณ์ด้วย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

เรื่องที่คุณอาจสนใจ