รองนายกรัฐมนตรี เน้นย้ำ 7 แนวทางแก้ปัญหาไฟป่าและหมอกควันอย่างยั่งยืน

0

รองนายกรัฐมนตรี รับฟังประชุมถอดบทเรียน AAR ณ หอประชุมเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา จังหวัดเชียงใหม่ เน้นย้ำ 7 แนวทางแก้ปัญหาไฟป่าและหมอกควันอย่างยั่งยืน

เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2563 พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ร่วมรับฟังสรุปการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อสรุปผลและถอดบทเรียน (After Action Review : AAR) การป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันภาคเหนือ ภายใต้หัวข้อหลัก “การป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันอย่างยั่งยืน” โดยมีนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รายงานสรุปการประชุม ซึ่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จัดขึ้นระหว่างวันที่ 19 – 21 พฤษภาคม 2563 ณ หอประชุมเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ โดยแบ่งการประชุมออกเป็น 3 กลุ่มย่อย ประกอบด้วย กลุ่มที่ 1 เจ้าหน้าที่ในกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กลุ่มที่ 2 ภาคประชาชนและหน่วยงาน NGO ต่างๆ และกลุ่มที่ 3 คือ หน่วยงานราชการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อระดมความคิดเห็นและถอดบทเรียน AAR ถึงสาเหตุของปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะในการป้องกันแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควันภาคเหนือ เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อสรุปในการกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาหมอกควันภาคเหนือที่เหมาะสมและยั่งยืน

ทั้งนี้ จากสถานการณ์ไฟป่าในปีนี้ส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อพื้นที่ป่าเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ภาคเหนือ ทางภาครัฐจึงต้องเร่งฟื้นฟูพื้นที่ป่าให้กลับมาอุดมสมบูรณ์โดยความร่วมแรงร่วมใจของ 9 จังหวัดภาคเหนือ กองทัพภาคที่ 3 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และทุกหน่วยงานที่ทุ่มเทปฏิบัติงานร่วมกัน โดยทุกหน่วยงานต้องมีการคุมเข้มและบังคับใช้กฎหมายในความรับผิดชอบอย่างจริงจัง และใช้กลไกระดับหมู่บ้าน ตำบล โดยเฉพาะประชาคมหมู่บ้าน ให้ความรู้ความเข้าใจกับประชาชนเพื่อร่วมเฝ้าระวังและจัดชุดดับไฟขั้นต้น ซึ่งหน่วยงานภาครัฐจะสนับสนุนกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนรักษาป่าในทุกพื้นที่อย่างเข้มแข็งและต่อเนื่อง

โอกาสนี้ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวขอบคุณและให้กำลังใจการปฏิบัติงานของทุกฝ่าย พร้อมทั้งเน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานดำเนินการป้องกันแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันให้ก้าวไปสู่เป้าหมายการดำเนินการ ดังนี้

  1. การป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน จะต้องมีความต่อเนื่อง แม้ว่าสถานการณ์จะผ่านพ้นไปแล้ว ก็ต้องเตรียมพร้อม วางแผน และกำหนดมาตรการ ทั้งระยะสั้น และระยะยาว เพื่อแก้ไขปัญหาให้หมดไปอย่างเร่งด่วน โดย ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จัดประชุมหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดทำแผนป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันภาคเหนืออย่างยั่งยืน ให้เป็นรูปธรรม และนำเสนอ คณะรัฐมนตรี ต่อไป
  2. จัดชุดพิทักษ์ป่าประจำหมู่บ้าน ในหมู่บ้านเสี่ยงไฟป่าของ 9 จังหวัดภาคเหนือ เพื่อให้ประชาชน มีส่วนร่วมในการดูแลรักษาป่า และสนับสนุนการดับไฟป่า โดย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย และ หน่วยทหารในพื้นที่ พร้อมทั้ง จัดอบรมให้ความรู้กับชุดพิทักษ์ป่าและจิตอาสาพระราชทาน เกี่ยวกับการดูแลป่า และการดับไฟป่า เพื่อให้สามารถปฏิบัติงานได้ อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัย
  3. ให้มีเทคโนโลยีที่ทันสมัย รวมถึงอุปกรณ์เครื่องมือที่เพียงพอ สำหรับปฏิบัติการดับไฟป่า การอนุรักษ์ป่า การบริหารจัดการเชื้อเพลิง และการติดตามสถานการณ์ไฟป่าและหมอกควัน โดย ทุกหน่วยงาน ต้องให้ความสำคัญ เพื่อประสิทธิภาพในการทำงาน และความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่และพี่น้องประชาชน
  4. ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา โดยให้ ผู้ว่าราชการจังหวัดแต่ละจังหวัด เป็นผู้รับผิดชอบหลัก และให้กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมสนับสนุนการกำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหา ไฟป่าและหมอกควันระดับจังหวัด รวมถึง แผนบริหารจัดการเชื้อเพลิง และการจัดระเบียบการเผา ให้เหมาะสมกับพื้นที่และสภาพปัญหา โดยให้ทุกภาคส่วน เข้ามามีส่วนร่วม ทั้งนี้ ต้องมีตัวชี้วัดผลการดำเนินงาน สำหรับหน่วยงานส่วนกลาง จังหวัด และหน่วยงานในพื้นที่ ที่ชัดเจน และสามารถประเมินผล การปฏิบัติงานได้อย่างเป็นรูปธรรม
  5. จังหวัดและหน่วยงานส่วนกลาง ต้องทำให้ประชาชนรับรู้และเข้าใจ ถึงความพยายามและแนวทางการดำเนินงานของภาครัฐในการแก้ไขปัญหา พร้อมให้ความร่วมมือ เป็นเครือข่ายในการอนุรักษ์ป่า โดยเฉพาะ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และหน่วยทหาร ต้องทำงานร่วมกัน ในการสื่อสารสร้างการรับรู้ ให้เข้าถึงระดับหมู่บ้าน
  6. เปลี่ยนผู้มีพฤติกรรมการเผาป่า และบุกรุกทำลายป่า ให้เป็น เครือข่ายดูแลรักษาป่า ให้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยทหาร สร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ ให้ความรู้ ส่งเสริมอาชีพและการเกษตร ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สร้างโอกาสและส่งเสริมบทบาท ในการเป็นจิตอาสาและเครือข่ายในการดูแลป่า เฝ้าระวังและดับไฟป่า ภายใต้การดูแลของเจ้าหน้าที่
  7. ร่วมมือกับอาเซียน แก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดนอย่างยั่งยืน โดยให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงการต่างประเทศ หารือกับประเทศอาเซียน ให้เกิดแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจน และผลการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรม และให้กองทัพภาคที่ 3 และจังหวัดชายแดน สร้างความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างจริงจังและต่อเนื่อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

เรื่องที่คุณอาจสนใจ