ม.แม่โจ้ พร้อมส่งมอบเมล็ดพันธุ์ผัก 485,000 ชุด ให้ประชาชน 77 จังหวัดทั่วไทยสู้ภัยโควิด-19

0

มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จัดโครงการส่งเสริมการปลูกผักสวนครัวทั่วไทยสู้ภัยโควิด – 19 ผนึกกำลังทุกภาคส่วนจัดเตรียมเมล็ดพันธุ์ผักสวนครัว จำนวน 485,000 ชุด พร้อมส่งมอบแก่ประชาชน 77 จังหวัดทั่วไทย ได้รับเกียรติจาก ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ และตัวแทนส่วนงาน ร่วมพิธีรับมอบ ในวันศุกร์ที่ 8 พฤษภาคม 2563 ณ อาคารแผ่พืชน์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จ.เชียงใหม่

รองศาสตราจารย์ ดร.วีระพล ทองมา อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ กล่าวว่า “จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด – 19 ที่กำลังส่งผลกระทบต่อพวกเราทุกคน และประชาคมโลกในทุกมิติ และตลอดระยะเวลาหนึ่งเดือนกว่าที่ผ่านมา เห็นได้ว่าทั้งภาครัฐและจังหวัดเชียงใหม่ได้เร่งดำเนินมาตรการเยียวยาเพื่อลดผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว ในส่วนของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ได้ดำเนินการช่วยเหลือเครือข่าย ทั้งมาตรการเยียวยานักศึกษา คณาจารย์ บุคลากร ประชาชนในชุมชน และกิจกรรมแม่โจ้เพื่อสังคมหลายโครงการ เช่น การผลิต Face Shield การทำเจลแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อ การทำหน้ากากอนามัยนาโน การผลิตสารนาโนซิลเวอร์สำหรับฉีดพ่นฆ่าเชื้อ อุโมงค์ฆ่าเชื้อทางการแพทย์แบบอัจฉริยะ จิตอาสาออกฉีดพ่นฆ่าเชื้อพื้นที่ต่าง ๆ รวมถึงกลุ่มศิษย์เก่าแม่โจ้และภาคเอกชนได้มาร่วมสนับสนุนการจัดทำอาหารและถุงยังชีพแจกจ่ายประชาชนในชุมชนด้วย

สำหรับโครงการมหาวิทยาลัยแม่โจ้ส่งเสริมการปลูกผักสวนครัวทั่วไทยสู้ภัยโควิด – 19 เป็นกิจกรรมสำคัญที่ทางมหาวิทยาลัยตระหนักถึงการเป็นที่พึ่งของประชาชน และการเป็นสถาบันอุดมศึกษาซึ่งเป็นแหล่งภูมิปัญญาทางการเกษตรมาอย่างยาวนาน จึงได้บูรณาการความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยแม่โจ้ สมาคมศิษย์เก่าแม่โจ้ คณะกรรมการส่งเสริมกิจการมหาวิทยาลัย ศูนย์เมล็ดพันธุ์ผัก เกษตรอินทรีย์มหาวิทยาลัยแม่โจ้ และการสนับสนุนจากเครือข่ายทุกภาคส่วน “ผัก” มีความสำคัญ คือเป็นอาหารและเป็นยาสามัญประจำบ้าน เมล็ดพันธุ์หนึ่งเมล็ดจึงมีค่าเทียบเท่ากับหนึ่งชีวิต เมื่อประชาชนได้รับเมล็ดพันธุ์ผักจากแม่โจ้และส่งต่อความปรารถนาดีขยายไปสู่วงกว้าง จะช่วยให้ผู้รับมองเห็นคุณค่าของเมล็ดพันธุ์ สามารถสร้างความมั่นคงทางอาหารด้วยการปลูกผักสวนครัว ช่วยลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน กระตุ้นให้คนไทยสู้ภัยโควิด–19 ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ตามยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยด้านการบริการวิชาการเพื่อสังคมชุมชน ซึ่งนับเป็นเป้าหมายที่แม่โจ้มุ่งทำเพื่อประชาชนมาโดยตลอด ขอขอบคุณทุกภาคส่วนที่ร่วมกันผนึกกำลังกันจนโครงการนี้ได้รับผลสำเร็จเป็นอย่างดี”

ด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ทองเลียน บัวจูม รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า “โครงการนี้ฯ ได้รับการตอบรับจากหน่วยงานและประชาชนทุกจังหวัดทั่วประเทศเป็นอย่างมาก ซึ่งในเบื้องต้นโครงการได้ตั้งเป้าหมายแจกจ่ายเมล็ดพันธุ์จำนวน 100,000 ชุด จากศูนย์เมล็ดพันธุ์ผักเกษตรอินทรีย์มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ต่อมาภาคเอกชนเครือข่ายแม่โจ้ได้ร่วมให้การสนับสนุนเมล็ดพันธุ์อีกเป็นจำนวนหนึ่ง จาก บริษัทสยามสตาร์ซีดส์ จำกัด บริษัทเทพมงคลเมล็ดพันธุ์ จำกัด บริษัทพัลซาร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด และ ห้างหุ้นส่วนจำกัด โอ.เค.เมล็ดพันธุ์ จึงได้ขยายผลส่งมอบให้ประชาชนเป็นจำนวนถึง 485,000 ครัวเรือน

นอกจากนี้ ยังมีความร่วมมือจากคณาจารย์ บุคลากร และนักศึกษาได้สละเวลาเป็นจิตอาสาบรรจุเมล็ด พันธุ์ใส่ซอง พร้อมด้วยหน่วยงานต่าง ๆ ที่สนับสนุนการกระจายส่งมอบสู่ประชาชน อาทิ จังหวัดเชียงใหม่ สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดเชียงใหม่ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหาชน) สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดสุโขทัย สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดลำปาง และหน่วยงานภาครัฐและเอกชนกระจายสู่ 77 จังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งเมล็ดพันธุ์หนึ่งชุด ประกอบไปด้วยผักสวนครัว 5 ชนิด แต่ละซองจะมีเมล็ดพันธุ์จำนวน 15 – 20 เมล็ด โดยพันธุ์หลักๆ ได้แก่ พริก มะเขือ ถั่ว และอื่น ๆ ซึ่งได้ผ่านการตรวจสอบเปอร์เซ็นต์การงอก จากห้องปฏิบัติการภายใต้มาตรฐานของมหาวิทยาลัยก่อนบรรจุส่งมอบให้แก่ประชาชน ซึ่งคำนวณเป็นมูลค่าเชิงเศรษฐศาสตร์ที่กระจายออกสู่ 77 จังหวัดทั่วประเทศ 485,000 ครัวเรือน ผลผลิตที่ได้จึงเทียบเท่ากับเม็ดเงินกว่าหนึ่งพันเจ็ดร้อยล้านบาทในระยะเวลาหนึ่งปี และมูลค่าเชิงสังคมที่เกิดจากการแบ่งปันเมล็ดพันธุ์ การส่งต่อคุณค่าในการปลูกผักสวนครัวเพื่อสุขภาพและสร้างความยั่งยืนในการพึ่งพาตนเอง ตามวัตถุประสงค์ของโครงการได้เป็นอย่างดี”

หลังวิกฤติ Covid-19 ในครั้งนี้ อนาคตของประเทศไทยกำลังจะเปลี่ยนจากความมั่นคงทางเศรษฐกิจไปสู่ความมั่นคงทางมนุษย์เป็นตัวตั้ง แพล็ตฟอร์มทุกอย่างกำลังจะเปลี่ยนไป เกษตรยุคใหม่จะมีความสำคัญอย่างยิ่ง โครงการมหาวิทยาลัยแม่โจ้ส่งเสริมการปลูกผักสวนครัวทั่วไทยสู้ภัยโควิด – 19 เป็นอีกหนึ่งจุดเริ่มต้นที่แม่โจ้เราจะทำเพื่อประชาชนชาวไทย เราจะสู้และพลิกวิกฤติครั้งนี้ให้กลายเป็นโอกาสไปพร้อม ๆ กัน

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

เรื่องที่คุณอาจสนใจ